สนพ.ชี้โควิดฉุดยอดใช้ดีเซลร่วง 2.9%

09 พ.ค. 2563 | 03:15 น.

สนพ. เผยใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 68 ล้านลิตรลดลง 2.9% ส่วนปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงเหลือเพียง 2.8 ล้านลิตรต่อวัน

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำมันชีวภาพ ในช่วงวันที่ 4 – 10 พฤษภาคม 63 ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 67.6 ล้านลิตร/วัน ลดลง 2.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในช่วงต้นปี 2563 จึงทำให้ประเทศไทยต้องประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ใช้มาตรการ Lock down ส่งผลให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วในช่วงปลายปี 2562 เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2563

 

สนพ.ชี้โควิดฉุดยอดใช้ดีเซลร่วง 2.9%

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาไบโอดีเซล (B100) วันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 63 อยู่ที่ 25.14 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.12  บาทต่อลิตร โดยสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 27 เมษายน - 1 พฤษภาคม 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.70-2.90 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.00 – 22.00  บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง ผลปาล์มที่เกษตรกรนำมาขายให้โรงสกัด มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (Yield) ที่ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ โดยอยู่ที่ประมาณ 15% ในขณะที่ราคาที่กรมการค้าภายในกำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานอยู่ที่ 18% ทำให้ราคาไบโอดีเซลต่ำลง ซึ่งได้มีการหารือและขอความร่วมมือให้เกษตรกร และโรงสกัดรับซื้อ-ขาย ที่ 18% โดยปริมาณการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้น้ำมันไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.32 ล้านลิตร/วัน ผลจากมาตรการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย ที่มีแนวโน้มปิดซ่อมบำรุงนานขึ้น และราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 15.80 บาทต่อกิโลกรัม  ขณะที่ปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม ประมาณ 169,046 ตัน ส่วนสต๊อกน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 63 เหลือประมาณ 100.39 ล้านลิตร (ข้อมูลล่าสุดถึงแค่สิ้นเดือน มี.ค.)

 

สนพ.ชี้โควิดฉุดยอดใช้ดีเซลร่วง 2.9%

 

ด้านราคาเอทานอลอ้างอิงในเดือนพฤษภาคม 63 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร  โดยราคายังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า  ในส่วนราคากากน้ำตาลที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลมีการปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลลดลง ส่งผลให้มีปริมาณกากน้ำตาลออกมาน้อยกว่าปีก่อน ราคากากน้ำตาลส่งออกตามประกาศเผยแพร่โดยกรมศุลกากร เดือนมีนาคม อยู่ที่ 3.55 บาทต่อกิโลกรัม  ราคามันสำปะหลัง (นครราชสีมาเชื้อแป้ง 25%) ประกาศโดยกรมการค้าภายใน เดือนเมษายน อยู่ที่ 2.17 บาทต่อกิโลกรัม

 

 

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังคงทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และเอทานอลลดลงตามไปด้วย โดยเดือนเมษายน การใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตร ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 63 โรงงานเอทานอล 26 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน