“บีโอไอ”เทหมดหน้าตัก  เร่งลงทุนจริงภายใน 2 ปี

08 พ.ค. 2563 | 22:47 น.

เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนจริงภายในปี 2563-2564  มาตรการนี้จะเน้นโครงการที่มี impact สูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ  เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ,ยานยนต์ ,เกษตรและอาหาร,เครื่องมือแพทย์  เป็นต้น  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5–8 ปี และสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50 %  เพิ่มเติมอีก 5 ปี หากมีการลงทุนจริง เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าซื้อและติดตั้งเครื่องจักร รวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 2563 หรือไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะต้องไม่มีการขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้

 

โดยมาตรการข้างต้นนั้นมีผลใช้บังคับสำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นในช่วงปี 2562–2563 และต้องนำหลักฐานการลงทุนมายื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายในเดือนมิถุนายน 2565

 

อย่างไรก็ตามบีโอไอได้เสนอมาตรการนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ไปทั่วโลก  เนื่องจากขณะนั้นเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณไม่ดี สงครามการค้าจีน-อเมริกาส่งผลต่อการส่งออกรุนแรงยิ่งขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัว

 

ต่อมาบีโอไอจึงต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อเร่งให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริงโดยเร็วเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งมาตรการนี้จะแตกต่างจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในช่วงปีแห่งการลงทุน (Thailand Investment Year) และมาตรการเร่งรัดการลงทุน (Thailand Plus) ที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ โดยครั้งนี้จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมมากกว่า ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า และมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่า

 

มาตรการกระตุ้นการลงทุนของบีโอไอ เป็นมาตรการที่ออกมาเสริมกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศในปี 2563 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีทั้งมาตรการภาษีโดยให้หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 2.5 เท่า การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเพิ่มเติมอีก 146 รายการ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 บีโอไอมีมาตรการพิเศษหลายเรื่องที่ช่วยดูแลผลกระทบที่เกิดกับการลงทุนในช่วงนี้ ทั้งในส่วนของมาตรการที่ออกมาช่วงต้นปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการลงทุน มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

 

รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก และมาตรการที่บอร์ดบีโอไอเพิ่งอนุมัติไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาและกำลังเสนอออกประกาศ เช่น มาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขและขยายเวลาการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ  มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับการผลิตเครื่องมือแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดตรวจวินิจฉัย ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา รวมถึง Non-woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

 

โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจำหน่ายหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50 %ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564  นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ โดยจะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรให้ด้วย

 

  “บีโอไอ”เทหมดหน้าตัก  เร่งลงทุนจริงภายใน 2 ปี

รองเลขาธิการบีโอไอ ยังมองอีกว่าจากวิกฤติ โควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้บีโอไอมองเห็นโอกาสด้านการลงทุนอย่างน้อย 3 เรื่องคือ

 

1.การต่อยอดความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ ชุดตรวจวินิจฉัย ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งต้องมองถึงการลงทุนผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนสำคัญของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย เพื่อทำให้ Supply Chain ของอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น และนอกจากภาคการผลิตแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีศักยภาพสูงในด้านบริการทางการแพทย์ทั้งการรักษาพยาบาล การเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ

 

2. การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะรองรับการเปลี่ยนโฉมรูปแบบการใช้ชีวิต การซื้อสินค้า การเรียนการสอน และการทำงานที่จะเป็นแบบ Anytime Anywhere มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล Service Platform ต่างๆ  หุ่นยนต์และโดรน รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็น เช่น Data center, Cloud services, Big Data โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G  ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองก็มองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์มากขึ้นด้วย

 

3.โอกาสที่จะดึงการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 อันเนื่องจาก Supply Chain Disruption ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทจีนและต่างชาติที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง และส่วนหนึ่งยังเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคตด้วย

 

“ประเทศไทยได้รับคำชมจากนานาชาติว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ แสดงถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย  ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะตอกย้ำจุดแข็งของไทยในการเป็นแหล่งที่น่าลงทุนของภูมิภาค ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนระยาว เพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกิจ และมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับการลงทุน”รองเลขาธิการบีโอไอกล่าว

 

ไล่ดูแต่ละช่วงบีโอไอรีดมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมาเรียกว่าเทจนหมดหน้าตักก็ได้  ทั้งหมดก็เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงภายในปี2563-2564 ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องรีบคว้าโอกาสนี้  แต่เป็นจังหวะที่มาพร้อมแรงกดดันในการรับมือควบคุมโควิด-19 แถมยังมีแรงกดดันจากคู่แข่งประเทศสำคัญอย่างเวียดนามที่พร้อมจะท้าชนทุกด้านตามมาติดๆ ดังนั้นทั้งภาครัฐ-เอกชนต้องเร่งวางแผนยุทธศาตร์ช่วงชิงความได้เปรียบด้านต่างๆไปพร้อมกัน