ยื่นร้อง "บิ๊กตู่" ช่วย "เอสเอ็มอี" เข้าถึงการเยียวยา

08 พ.ค. 2563 | 13:31 น.

ตัวแทนเอสเอ็มอี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอเข้าถึงแหล่งทุน ตาม "มาตรการเยียวยา" ของรัฐบาล

วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 นายทศพล แก้วทิมา ผู้อำนวยการสถาบันสยามปัญญาและผู้ประสานงานกลุ่มคนตัวเล็กสร้างไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยที่อ่อนแอเร่งด่วน 

ยื่นร้อง "บิ๊กตู่" ช่วย "เอสเอ็มอี" เข้าถึงการเยียวยา

นายทศพล ระบุว่า เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาลก็ประสบผลลำเร็จเป็นที่ชื่นชมในประชาคมโลก กระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ใน ภาคส่วนต่างๆ ประชาชนทุกสาขาอาชีพ และผู้ประกอบการด้านธุรกิจ การค้าอุตสาหกรรม บริการและการลงทุนในทุกระดับตามแนวคิด "เราจะไม่ทิ้งกัน" ซึ่งรัฐบาลก็พยายามดำเนินการปรับปรุงการทำงานให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางสังคมที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส และผู้ประกอบการที่มีความอ่อนแอด้านเงินทุน ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

นายทศพล กล่าวอีกว่า ได้ติดตามการบริหารงานของรัฐบาลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นกังวลในเรื่องการเยียวยาและการพื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ตั้งวงงินไว้สู้กับสถานการณ์นี้ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการงินเฉพาะกิจของรัฐบาล เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ โดยเน้นหนักไปที่กลุ่ม SME ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดในโครงการนี้คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และลูกค้าชั้นดีของธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและภาคบริการที่มีฐานข้อมูลในระบบ และเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ที่มีความอ่อนแอคือเครติตไม่ค่อยดี ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเช่นกัน 

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในวิกฤตินี้ คือกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย หรือ Micro คือกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์ปกติผู้ประกอบการกลุ่มนี้ รัฐบาลก็ไม่มีแผนส่งเสริมและพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และการเข้าถึงแหล่งทุน ก่อนหน้านี้ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้กิจการอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อมาเจอพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 ผู้ประกอบการที่อ่อนแอในกลุ่มนี้ จึงอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ และต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่มาตรการเร่งด่วนทางการเงินของรัฐบาลที่ออกมา ก็ไปไม่ถึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้อีกเช่นเคย 

"จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาหามาตรการเยียวยา และช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้านเครดิตในทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเร่งด่วน"