พิษภาษีบุหรี่ การยาสูบอ่วม

07 พ.ค. 2563 | 11:47 น.

การยาสูบ อ่วม พิษภาษีบุหรี่ ทำกำไรทรุด งดนำส่งรายได้รัฐ 3 ปีรวมกว่า 16,000 ล้านบาท

ท่ามกลางข่าวลบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่อาจเสียงติดโควิด ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากงานวิจัยต่างๆ ที่มากขึ้น การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)ก็กำลังเผชิญความท้าทายอีกด้านจากปัญหาภาษีสรรพสามิตที่มีผลให้ผลการดำเนินงานขององค์กรตกต่ำลงอย่างมาก โดยถือเป็นภารกิจสุดหินในการพลิกฟื้นปัญหาวิกฤตองค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ของผู้ว่าการคนใหม่ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร 

อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 และภาษีกองทุนคนชราอีกร้อยละ 2ทำให้ ยสท. มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในปีงบประมาณ 2561 นอกจากนั้นการแบ่งอัตราภาษี 2 ขั้นทำให้เกิด “สงครามราคา” บุหรี่ต่างประเทศถูกบีบให้ปรับตัวลงมาแข่งขันกับบุหรี่ในประเทศเพื่อความอยู่รอดทำให้รายได้จากการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศของการยาสูบฯ ลดลง กำไรสุทธิทรุดกว่า 90% ส่วนในปีงบประมาณ 2562 รายได้ ยสท.ยังคงลดลงต่อเนื่อง กำไรสุทธิเหลือเพียง 513 ล้านบาท  และอาจถึงขั้นขาดทุนรวมทั้งเกิดภาวะขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจหากยังแบกรับภาระภาษีที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในเดือนตุลาคม  2563     

ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานประจำปีงบประมาณ 2562 ของการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งเปิดเผยผลการดำเนินงานที่ยังคงทรุดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดย ยสท.มีรายได้รวม 50,839.89 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 50,326.67 ล้านบาท กำไรสุทธิ 513.35 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2561 ที่มีกำไร 843.25 ล้านบาท แสดงให้เห็นผลกำไรลดลงถึงร้อยละ 39 และหากเทียบผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 9,343.33 ล้านบาท จะพบว่า ยสท. มีกำไรลดลง ณ ปัจจุบันถึงร้อยละ 95

ด้วยเหตุนี้ ยสท.จึงได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอยกเว้นการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินจากผลการดำเนินงานประจำปี 2560-2563 จำนวน 16,718 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอที่จะรองรับภาระภาษี  สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการสร้างการยาสูบแห่งประเทศไทยแห่งใหม่ส่วนที่เหลือ  และเพื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

อาจกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมานั้น  ผลกระทบจากอัตราภาษียาสูบตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลกระทบต่อทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบไทย ความเดือดร้อนถูกส่งต่อเป็นลูกโซ่  เมื่อ ยสท. ในฐานะองค์กรรัฐที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่แบรนด์ไทยเพียงผู้เดียว และเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาด กลับมีกำไรลดลงติดต่อกันเรื่อยๆ กลุ่มที่เดือดร้อนหนักที่สุดจึงไม่พ้นเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 50,000 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ทำอาชีพปลูกใบยาสูบ เพราะรายได้ครอบครัวขึ้นอยู่กับการขายผลผลิตใบยาสูบตามโควตาที่ได้รับมาจาก ยสท.

เมื่อ ยสท.ขายบุหรี่ได้ลดลง เกษตรกรจึงถูกลดโควตาการปลูกใบยาสูบลงเช่นเดียวกัน โดยถูกลดโควตาในอัตราร้อยละ 47 ซึ่งเท่ากับว่ารายได้แต่ละครอบครัวลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้รับ ส่งผลให้กลุ่มชาวไร่ยาสูบต้องออกมายื่นขอร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนต่อรัฐบาลมาตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่มีการใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560  ประเด็นเรียกร้องให้รัฐบาลคือ  ขอให้เลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่อัตรา 40% ที่มีกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้ ออกไปก่อน  รวมทั้งขอให้มีการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อน

การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการไว้ในรายงานประจำปีงบประมาณ  2562  ด้วยว่า ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ทำให้ ยสท. มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้จากการขายบุหรี่ลดลงจนถึงขั้นเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยราคาบุหรี่ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคยาสูบแบรนด์ต่างประเทศ หรือสินค้าทดแทน เช่น ยาเส้น หรือบุหรี่เถื่อน รวมทั้งส่งผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ในกลุ่มราคาสูงกว่า 60 บาท ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บุหรี่ในกลุ่มราคา 60 บาทหรือต่ำกว่ามีการเติบโตที่สูงขึ้น

หากรัฐบาลยังคงนโยบายขึ้นภาษีไว้เช่นเดิม  อัตราภาษี 40% จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้  ซึ่งกรมสรรพสามิตยืนยันว่าต้องขึ้นภาษีบุหรี่ตามประกาศกฎกระทรวงหลังจากผ่อนผันมาแล้ว 1 ปี  และนั่นจะทำให้บุหรี่ที่ขายในประเทศไทยต้องขยับราคาขึ้นอีกครั้ง และจะกระทบต่อยอดการจำหน่ายบุหรี่ของ ยสท. ให้ลดลงไปอีกแน่นอน เพราะผู้บริโภคจะหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ทำให้บุหรี่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย  บุหรี่ปลอม และยาเส้น มีอัตราการเติบโตสูงมากขึ้น

มีตัวอย่างบทเรียนที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายภาษียาสูบใหม่ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร  นั่นคือ การขึ้นภาษียาเส้นแบบก้าวกระโดดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  เมื่อมีการประกาศขึ้นภาษียาเส้นเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ใช้อัตราภาษีสูงถึง 19 เท่า แต่ในห้าเดือนต่อมา รัฐต้องประกาศลดอัตราภาษียาเส้นลง  เพราะการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนปั่นป่วนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ  การขึ้นและลดภาษียาเส้นจึงเป็นการสะท้อนปัญหาของนโยบายภาษียาสูบในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลอย่างชัดเจน  

ในรายงานประจำปีงบประมาณ 2562 ยสท.ยังได้ระบุข้อแนะนำ ให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางนโยบายภาษีบุหรี่  โดยขอให้ใช้การวางแผนขึ้นภาษีแบบขั้นบันไดแทนการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ใช้การปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากร้อยละ 20 ค่อยๆ ขึ้นไปร้อยละ 5 ทุก 2 ปี  จะทำให้ภาระภาษีบุหรี่ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปี  ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทยและจะช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบได้มีเวลาปรับตัวมากขึ้นทั้งสามารถช่วยลดแรงเสียดทานทางการเมืองได้ด้วย

การพลิกฟื้นสถานการณ์ผลการดำเนินงานของ ยสท. ขึ้นอยู่กับนโยบายภาษีบุหรี่เป็นสำคัญ หากแนวทางกำหนดนโยบายภาษีที่ ยสท.เสนอไว้ข้างต้นได้รับการพิจารณาใหม่อย่างถี่ถ้วนจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โจทย์หินของ ยสท.ที่จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำที่นำส่งรายได้เข้ารัฐได้มากเช่นเดิมย่อมทำได้ไม่ยาก  และไม่เพียง ยสท.เท่านั้นที่จะรอดพ้นวิกฤต กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบและทุกองคาพยพในอุตสาหกรรมยาสูบไทยจะผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากระทรวงการคลังที่มีรัฐมนตรีว่าการคือนายอุตตม สาวนายนและรัฐมนตรีช่วยว่าการ นายสันติ พร้อมพัฒน์ซึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐทั้งคู่จะเลือกดำเนินนโยบายอย่างไรที่ทำให้เกิดดุลยภาพทั้งด้านรายได้ ด้านสุขภาพ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และด้านความยั่งยืนของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังเองเพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปอาชีพชาวไร่ยาสูบอาจมีอันต้องล่มสลายและรัฐวิสาหกิจชั้นดีอาจมีอันต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเพราะนโยบายภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลังเอง