"กรมราง" ร่อนหนังสือ "BTS-รฟม.-แอร์พอร์ตลิงก์" เลี่ยงโควิด

07 พ.ค. 2563 | 07:45 น.

กรมรางฯ ยื่นหนังสือถึง BTS-รฟม.-แอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง สั่งเข้มมาตรการเว้นระยะห่าง หวังสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

 

 

 

"กรมราง" ร่อนหนังสือ "BTS-รฟม.-แอร์พอร์ตลิงก์" เลี่ยงโควิด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศหลังการผ่อนปรนล็อกดาวน์ในกิจการบางประเภททำให้มีประชาชนเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จนมีภาพความหนาแน่นในการเดินทางทั้งบริเวณชานชาลาและภายในตัวรถไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้

 

"กรมราง" ร่อนหนังสือ "BTS-รฟม.-แอร์พอร์ตลิงก์" เลี่ยงโควิด ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคม มีความเป็นห่วงในเรื่องสภาพการแออัดในการให้บริการทั้งบริเวณขานชาลาสถานี และ ในตู้บริการรถโดยสาร ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงขึ้นมาอีก จึงมอบหมายให้ กรมการขนส่งทางราง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเพื่อวางมาตรการแนวทางให้ ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัย สบายใจ ในการเดินทาง

 

นายสงพงศ์ กล่าวต่อว่า กรมรางฯ จึงมีหนังสือถึงหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) (ARL) เรื่องขอความร่วมมือเข้มงวดการดำเนินงานตามนโยบายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กรณีมีจำนวนผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น โดยมีการเพิ่มเติมจากการดำเนินการเดิม ได้แก่

 

1. เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาสภาพรถ สภาพทาง อุปกรณ์ เพื่อมิให้เกิดความขัดข้องในการให้บริการ

 

2. หากมีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการที่เข้ามาในระบบเกินขีดความสามารถในการรองรับจนกระทบต่อการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)ให้บริหารจัดการมาตรการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเข้าระบบในแต่ละคราว (Group Release) จำแนกเป็น 3 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 ก่อนการขึ้น -ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร

ตอนที่ 2 ก่อนการผ่าน หน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร

ตอนที่ 3 ก่อนเข้าสู่ขบวนรถ

 

3. เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เกี่ยวกับแนวทางการใช้บริการตามข้อ 2. พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการปฏิบัติ วางแผนการเดินทาง และเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อให้สามารถลดความหนาแน่นและคงการปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้อย่างมีประสิทธิผล

 

4. เพิ่มเจ้าหน้าที่หรือสนธิลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา/สถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน โดยหากมีอุปสรรคขัดข้องในการดำเนินการ ขอความกรุณาแจ้งอธิบดีกรมการขนส่งทางรางทันที

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานบริหารการดำเนินการตามมาตรการ Social Distancing ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบ ประเมินผลและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม กรมรางฯ หน่วยงานผู้ให้บริการร่วมกันดำเนินการต่อไป

 

 

 

 

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่าหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดีเยี่ยมทั้งการตรวจวัดอุณภูมิ การให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ก่อนเข้าใช้บริการ และการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อการจัดแบ่งเป็นกลุ่ม (Group Release) ให้กับผู้โดยสารตั้งแต่ ก่อนการขึ้น- ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว ก่อนการผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ และภายในตัวรถ ซึ่งทั้งหมดมีการเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร อันเป็นเหตุให้เกิดให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ/แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

 

อย่างไรก็ตามทาง BTS ได้ตรวจสอบเช้านี้ที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม และสถานีสุขุมวิท มีการบริหารจัดการที่ดี มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมาช่วยบริหาร บริการประชาชน ส่วนที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้รับแจ้งว่ามีความหนาแน่นที่บริเวณสถานีห้วยขวาง และ Airport Rail Link มีความหนาแน่นที่สถานี หัวหมากและลาดกระบัง แต่ผู้ให้บริการทุกรายได้จัดการระบบ Group release โดยมีการจัดระยะห่างการรอแถวใช้บริการตั้งแต่ทางขึ้น - ลง สถานี ชานชาลาสถานี และ ขึ้นขบวนรถ เป็นอย่างดี