สาธารณสุขนราธิวาสแจง2ปมดราม่าโซเชียลไม่เป็นความจริง

07 พ.ค. 2563 | 04:16 น.

เฟซบุ๊ก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส โพสต์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ #ประเด็นที่มีการโพสต์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางสื่อโซเชียล เรื่องของมีผู้เสียชีวิตและมีผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดนราธิวาส

สาธารณสุขนราธิวาสแจง2ปมดราม่าโซเชียลไม่เป็นความจริง
 

นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทางการแพทย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.)จังหวัดนราธิวาส และคณะทำงานศูนย์บริหารราชการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ(EOC.จังหวัดนราธิวาส) ได้ชี้แจงประเด็นที่เป็นกระแสสังคมในโลกโซเชี่ยลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า

จากการประชุมคณะทำงานศูนย์บริหารราชการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนราธิวาส วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ขอความร่วมมือ สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้กับประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ในประเด็นที่มีการออกข่าวทางสื่อโซเชียล ในขณะนี้ 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ชประเด็นที่ 1 ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า ขณะนี้ยังไม่เสียชีวิต ซึ่งผู้ปวยหนักรายนี้ ภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองนราธิวาส จากผลการตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผลตรวจ จำนวน 3 ครั้ง พบว่า ผลเป็นลบ คือ ไม่พบเชื้อโควิด - 19 แต่ยังไม่สามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ เนื่องจาก ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือ โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนั้น จึงขอเรียนชี้แจงว่าการเสียชีวิตของผู้ป่วยดังกล่าว ไม่เป็นความจริง

ประเด็นที่ 2 จากการที่มีโพสต์ต่อว่า ผู้ปวยรายที่ 35 และครอบครัว โดยกล่าวหาว่าปกปิดข้อมูลการเดินทางกับทางเจ้าหน้าที่ ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ขอยืนยันว่า ทางครอบครัวผู้ปวยรายนี้ ได้ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่อย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าไปสอบสวนโรคและเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อยืนยันผลจากบุคคลในครอบครัวจำนวน 3 คน ผลการตรวจพบว่า บุคคลในครอบครัวทั้งหมด ผลเป็นลบ คือไม่พบเชื้อโควิด - 19 ในร่างกาย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ทางทีมบุคลากรทางการแพทย์จะยังคงสอบสวนโรคต่อไป จนกว่าจะพบแหล่งที่มาของโรคที่แท้จริง

 

 

สาธารณสุขนราธิวาสแจง2ปมดราม่าโซเชียลไม่เป็นความจริง