ห้างค้าปลีกมะกันส่ออวสาน ยอดขายวูบหนักรอบ 200 ปี

06 พ.ค. 2563 | 11:33 น.

โควิด-19 ทุบยอดค้าปลีกในสหรัฐฯเดือนมีนาคมวูบกว่า 100% มากสุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจรอบ 200 ปี ห้างดังล้มละลายทยอยปิดกิจการ ส่งสัญญาณพลิกโฉมหน้าธุรกิจการค้าของสหรัฐฯครั้งใหญ่ สู่ยุครุ่งเรืองค้าออนไลน์ จับตาร้านค้าย่อยนับวันยิ่งสาบสูญ

 

นาย Derek Thomson นักข่าวอเมริกันสายข่าวเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของ สื่อ The Atlantic ได้เขียนบทความให้มุมมองที่น่าสนใจต่อโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับโฉมรูปของธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ ไวรัสโควิด-19 สร้างวิกฤติเศรษฐกิจให้สหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ตลาดแรงงานมีคนตกงานมากกว่า 30 ล้านคน และล่าสุดยอดค้าปลีกของสหรัฐฯในเดือนมีนาคม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้รายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 เป็นยอดค้าปลีกที่ลดลงมากกว่า 100% มากสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีสรุปคาดการณ์การปรับโฉมหน้าธุรกิจการค้าในสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในยุคไวรัสโควิด-19 และยุคต่อไป ออกเป็น 5 ประการ ดังนี้

1.อวสานของห้างสรรพสินค้าและช้อปปิ้งมอลล์ : ห้างสรรพสินค้าและช้อปปิ้งมอลล์ในสหรัฐฯ ถือกำเนิดมานานร่วม 200 ปี จากที่เคยรุ่งเรืองในอดีตและมีการเติบโตขยายตัวไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จนเข้าสู่ยุคการค้าออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจนมีการทยอยปิดกิจการจำนวนมากในช่วง ระหว่างปี 2560-2563 แต่ในปีวิกฤติไวรัสโควิด-19 นี้ ได้กลายเป็นตัวเร่งที่สำคัญครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การอวสานของห้างสรรพสินค้าและช้อปปิ้งมอลล์ในสหรัฐฯ จะเห็นได้ จากห้าง Macy’s ได้สั่งพักพนักงานมากกว่า 100,000 คน ห้าง Neiman Marcus ได้ ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์การล้มละลาย (Chapter 11) และห้าง JC Penny มี แนวโน้มที่ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์การล้มละลายเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มห้าง Discounter เช่น Walmart, Dollar General, Home Depot และ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon กลับมียอดขายขยายตัวในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19

ห้างค้าปลีกมะกันส่ออวสาน ยอดขายวูบหนักรอบ 200 ปี

 

ห้างค้าปลีกมะกันส่ออวสาน ยอดขายวูบหนักรอบ 200 ปี

2.การหดตัวของความเป็นเมืองในสหรัฐฯ : ธุรกิจการค้าทางออนไลน์จะยิ่งมีบทบาทและขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกขนาดย่อม รวมถึงร้านค้าขนาดเล็กในครอบครัวในเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ จะทยอยปิดกิจการและ หายสาบสูญไปโดยปริยาย เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะก่อให้เกิด พื้นที่ว่างเปล่า อาคารไร้ผู้เช่า ธุรกิจใช้พื้นที่ออฟฟิศน้อยลงเนื่องจากพนักงานสามารถ ทำงานมาจากภายนอกได้ ดังนั้น ความเป็นเมืองและชุมชนจะหายไป คงเหลือแต่ร้านชา และร้านอาหารประเภทลูกโซ่ จะยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในชุมชนเมือง ในขณะที่ร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เคยอยู่บนถนนในชุมชนเมืองจะมีจำนวนห้องว่างเพิ่มมากขึ้น

 3.การสิ้นสุดของยุคทองของธุรกิจร้านอาหาร : ร้านอาหารในสหรัฐฯ จัดได้ ว่าอยู่ในระดับ World Class มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ นักวิจารณ์อาหารมีส่วนชักจูง ผู้บริโภคและผลักดันการแจ้งเกิดร้านอาหารในเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ เช่น New Orleans, San Francisco, Chicago, Washington D.C., Los Angeles, New York เป็นต้น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 คนอเมริกันใช้จ่ายไปกับการรับประทาน อาหารนอกบ้าน มากกว่าการซื้อมาปรุงเองที่บ้าน และธุรกิจให้บริการรับสำรองที่นั่งในร้านอาหาร เช่น บริษัท Open Table ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่พอมาในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ร้านอาหารไม่สามารถให้บริการรับประทานในร้านได้ บริการสำรองที่นั่ง ขาดรายได้ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อร้านอาหารลดลงประมาณร้อยละ 60 ทั่วประเทศ ดังนั้น ร้านอาหารหลังยุคโควิด-19 จะปรับตัวออกเป็น 3 แนว คือ

3.1 การยนย่อ (Reduced) : การลดพื้นที่ในการรับลูกค้า ลดจำนวนโต๊ะและที่นั่ง เพื่อลดความแออัด รวมไปถึงการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อ รายได้ของร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองที่มีค่าเช่าราคาแพง แต่ไม่สามารถใช้พื้นที่บริการลูกค้าได้เต็มจำนวนตามที่เคยได้รับอนุญาต

 3.2 การปรับเปลี่ยน (Repurposed) : รูปแบบการให้บริการของร้านจะไม่เหมือนเดิม เช่น มีการตรวจเช็กอุณหภูมิของลูกค้าก่อนเข้ามานั่งรับประทานในร้าน หรือบางร้านมีการลงทุนติดตั้งแผ่นกั้นระหว่างโต๊ะ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกไม่สนุกสนานในการเข้าไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านหรือในบาร์ เมื่อต้องมีข้อจำกัดต่าง ๆ

3.3 ย้ายทำเลที่ตั้ง (Relocated) : ร้านอาหารย้ายทำเลที่ตั้งเพื่อจ่ายค่าเช่าใน ราคาที่ถูกกว่า ด้วยการนั่งรับประทานอาหารในร้านต้องจำกัดจำนวนลูกค้า ในขณะที่ลูกค้านิยมใช้บริการสั่งอาหารทั้งประเภทให้จัดส่ง หรือไปรับที่ร้าน ร้านอาหารจะย้อนกลับเข้าสู่ยุคเก่า หรือ แบบ off-premise ที่ใช้ครัวเพื่อปรุงอาหาร เน้นการส่งอาหาร หรือลูกค้ามารับที่ร้าน เช่น ร้านพิชซ่า และร้านอาหารจีนที่เคยครองสัดส่วนตลาดในอเมริการ้อยละ 70 หรือการปรับเปลี่ยนร้านเป็นแบบ Food Truck

 

4.เศรษฐกิจในรูปแบบการบริการจัดส่ง : ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของคนอเมริกันได้หันมาซื้อสินค้าอาหารและของใช้ทางออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนหลายสิบล้านคนที่เริ่มช้อปออนไลน์เป็นครั้งแรก และหากยังคงต้องปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป คาดว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้จะทำให้ยอดขายทางออนไลน์เพิ่มส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกรวมของสหรัฐฯ เป็นประมาณร้อยละ 15-25 ผู้ประกอบการที่ขายและให้บริการจัดส่งสินค้า เช่น Amazon และ Walmart หรือกลุ่มให้บริการจัดส่ง เช่น Instacart, Uber Eats, Doordash จะมีอัตราการขยายตัวสูงมาก อีกทั้งคาดว่าการให้บริการจัดส่งในอนาคตอาจจะเข้ายุคบริการไร้การสัมผัส (Touchlessness) จะเป็นการส่งสินค้าในรูปแบบการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ หรือ การใช้โดรน เป็นต้น

ห้างค้าปลีกมะกันส่ออวสาน ยอดขายวูบหนักรอบ 200 ปี

5.การดำเนินธุรกิจภายหลังโควิด :  การโยกย้ายจากเมืองสู่ชานเมืองจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี การสื่อสาร และการตลาด ซึ่งสามารถให้พนักงานบุคลากรทำงานจากนอกสถานที่ได้ บริษัทจะลดขนาดพื้นที่ทำการในเมืองเพื่อประหยัดค่าเช่า ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงลดจำนวนพนักงาน คนหนุ่มสาวที่เคยนิยมพักอาศัยในเมือง ไม่สามารถรับภาระค่าเช่าที่พักราคาแพงและจะย้ายออกไปสู่ชานเมือง พลเมืองจะให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย การดูแลรักษา สุขภาพ การอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากนักท่องเที่ยว การหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าเมือง ที่ต้องใช้การเดินทางโดยบริการขนส่งมวลชน การสรรหาอาหารอร่อย ๆ รับประทาน และการเที่ยวกลางคืนลดน้อยลง