‘บิ๊กตู่’หารือแอตต้า-ทีเอชเอ  เอกชนจี้ขอซอฟต์โลนหวั่นปิดถาวร

07 พ.ค. 2563 | 03:35 น.

สมาคมแอตต้า-สมาคมโรงแรมไทย ปลื้มนายกฯบิ๊กตู่ เดินสายรับฟังความเดือดร้อนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากผลกระทบโควิด ร้องขอซอฟต์โลน-จี้เยียวยาธุรกิจ คาดแนวโน้มกลับเริ่มขายทัวร์กระตุ้นรายได้ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ด้านโรงแรม ชงแผนฟื้นท่องเที่ยวหลังรัฐบาลคลายล็อก ทั้งจี้แก้ปัญหาโรงแรมผิดกฏหมาย

สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการมากที่สุด คือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีท่องเที่ยวยังไม่ได้รับเม็ดเงินเข้ามาแต่อย่างใด แต่ก็ยังพอมีลุ้นอยู่บ้างกับซอฟต์โลน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทที่กันไว้ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณาปล่อยสินเชื่อ แต่ก็คงไม่เพียงพอเพราะจากการสำรวจพบความต้องการซอฟต์โลนของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท

 

ขณะที่การเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว ดังนั้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มเดินทางไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เพื่อรับฟังความเดือดร้อน และข้อเสนอแนะด้วยตัวเอง

ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงมีโอกาสได้สะท้อนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นและใช้โอกาสนี้ขอความช่วยเหลือโดยตรงผ่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปพบสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา และจะเดินทางไปสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้

‘บิ๊กตู่’หารือแอตต้า-ทีเอชเอ  เอกชนจี้ขอซอฟต์โลนหวั่นปิดถาวร

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีวันที่ 8 พฤษภาคมนี้  ทีเอชเอ จะเสนอเรื่องของแนวทางในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้รวดเร็วขึ้น หลังจากรัฐบาลคลายล็อคดาวน์ทั้งหมดแล้ว โดยจะกำชับเรื่องของการให้ภาครัฐ จัดงบประชุมสัมมนาภายในประเทศ โดยเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่น
    การขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย เพื่อลดซัพพลายในตลาด เพราะไม่เช่นนี้เมื่อมีการเปิดดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม จะเกิดปัญหาการตัดราคาครั้งมหาศาล ก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากเช่นกัน ส่วนเรื่องของซอฟต์โลน
    ในส่วนของสมาคมโรงแรม ส่วนใหญ่จะได้ข้อมูลจากสมาชิก ที่จะกู้เกิน 500 ล้านบาทที่แต่ละโรงแรมต้องไปเจรจากับสถาบันการเงินเอง ส่วนโรงแรมเล็กที่ต้องการซอฟต์โลนจากโครงการของรัฐ ทางสมาคมอาจยังไม่ได้รับข้อมูลเท่าไหร่ แต่ก็คงต้องสรุปอีกทีว่าจะเสนอหรือไม่ ขณะที่ประกันสังคม ตอนนี้ก็คลี่คลายและทยอยได้รับการชดเชยแล้ว

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่าการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาร่วมหารือกับแอตต้าเมื่อวันก่อน ผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างรู้สึกดีที่นายกฯให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว โดยเดินทางมารับฟังความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งนอกจากแอตต้าจะนำเสนอข้อเท็จจริงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ยังได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลใน 4 เรื่อง ทั้งระยะเร่งด่วน และการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ได้แก่

 1.ขอให้ประกันสังคม เร่งเยียวยาชดเชยค่าใช้จ่าย เงินเดือนในอัตรา 62% ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ให้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราว ในกรณีเข้าข่ายเหตุสุดวิสัย รวมถึงให้รัฐบาลพิจารณาขยายการจ่ายชดเชยประกันสังคม ออกไปมากกว่า 3 เดือน หากธุรกิจยังไม่กลับมาเป็นปกติ เช่น บริษัททัวร์ที่ทำตลาดยุโรป ที่กว่าจะขายได้อีกครั้งก็ต้องเป็นช่วงปีหน้า

 

 2. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลน เป็นการเฉพาะให้บริษัทนำเที่ยวอินบาวด์และโดเมสติก วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากซอฟต์โลน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลกันไว้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ บริษัทนำเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีมากถึง 13 สาขาวิชาชีพ และต่างมีความต้องการซอฟต์โลนด้วยกันทั้งสิ้น

 

3. แอตต้าเสนอว่าถ้าไทยคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งจากมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการมาอย่างดี คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ บริษัททัวร์น่าจะเริ่มขายทัวร์ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ อยากให้รัฐบาลออกมาตรการฟรีวีซ่าออนอาร์ไรวัน (VOA) โดยเลือกประเทศที่คุมการแพร่ระบาดได้แล้ว และต้องเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรการกักตัว 14 วัน เพื่อกระตุ้นให้เดินทางมาเที่ยวไทย หลังโควิด-19 คลี่คลาย เช่น จีน ไต้หวัน หรือประเทศอื่นๆ

การท่องเที่ยวในช่วงแรกๆ จะเป็นการเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) ส่วนกรุ๊ปทัวร์คงต้องใช้เวลา ซึ่งประเทศที่จะดึงให้กลับมาเที่ยวได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังคงเป็นตลาดเอเชีย ส่วนตลาดระยะไกล อย่างยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา น่าจะกลับมาขายได้ในปีหน้า

 

4. แอตต้ายังเสนอว่าถ้าหากปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย ขอให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บค่ามูลค่าเพิ่ม 7% หรือลดการจัดเก็บภาษีเหลือ 3% ในส่วนที่เป็นภาษีซื้อ เช่น การเช่ารถ เนื่องจากการทำทัวร์เป็นการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศ รูปแบบก็คล้ายกับธุรกิจการส่งออก ควรจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

 

 “ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ที่ธุรกิจนำเที่ยวกว่า 1 หมื่นราย ต้องปิดกิจการชั่วคราว กระทบแรงงานร่วม 2 แสนคน ผู้ประกอบการจึงมีความต้องการซอฟต์โลนมากที่สุด เพื่อประคองสภาพคล่องและชะลอการเลิกจ้างงาน ถ้าในอีก 1-2 เดือนนี้ยังไม่ได้รับเงิน ก็คงมีหลายบริษัทที่ปิดชั่วคราวอยู่อาจจะต้องกลายเป็นปิดกิจการถาวรได้” นายวิชิตย้ำ

 

อีกทั้งด้วยความที่บริษัทนำเที่ยวเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี การกู้แบงก์จึงลำบากมาก แอตต้าจึงอยากขอร้องให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ โดยอย่ามองเรื่องผลกำไรขาดทุนของธุรกิจ แต่อยากให้มองตามความเป็นจริงว่าธุรกิจยังเปิดอยู่จนถึงวันนี้ ยังมีตัวตน มีพนักงานอยู่จริง เป็นการพิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อ

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,572  วันที่ 7 - 9  พฤษาภาคม  2563