ปกป้องสุขภาพ SMEs อย่างไร ให้รอดจาก COVID-19        

09 พ.ค. 2563 | 06:20 น.

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน และทำให้กลไกระบบเศรษฐกิจติดขัดหยุดชะงัก ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ กลไกสำคัญทางเศรษฐกิจประกอบด้วย 4 ภาคส่วน คือ 1.ภาคครัวเรือน 2.ภาคธุรกิจ 3.ภาคการเงิน และ 4.ภาครัฐ หากพิจารณาทั้ง 4 ภาคส่วน จะเห็นว่ากลไกที่ยังทำงานคือกลไกภาครัฐที่ออกมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และกลไกภาคการเงิน” เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกการไหลของเงินไปสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างไม่ติดขัดในยามที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในภาวะล็อกดาวน์

 

ขณะที่กลไกภาคครัวเรือนและกลไกภาคธุรกิจต้องประคองตัวไปก่อน เพื่อรอวันที่สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ฉบับนี้ ผมจะพูดถึงภาคธุรกิจที่ต้องก้าวฝ่าวิกฤตินี้ โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศว่า จะพอมีไอเดียใดบ้าง ผมขอเสนอแนวทางปกป้องสุขภาพธุรกิจ SMEs เพื่อให้ผ่านวิกฤติ COVID-19 แบ่งเป็น 4 แนวทางคือ

 

1. เจรจาขอขยายเครดิตเจ้าหนี้การค้า (Account payable: AP) ออกไป จะสามารถช่วยธุรกิจของท่านพอมีสภาพคล่องมาชดเชยรายได้ที่หายไปได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยได้เท่าไหร่ ผมขอยกตัวอย่าง

 

ปกป้องสุขภาพ SMEs อย่างไร ให้รอดจาก COVID-19         

โดยนำข้อมูลโครงสร้างการเงินของเจ้าหนี้การค้าและเวลาการให้เครดิตของเจ้าหนี้การค้าของ SMEs มาวิเคราะห์ดูจะพบว่า หากผู้ประกอบการ SMEs สามารถเจรจาขอขยายเครดิตเจ้าหนี้การค้าได้ 10 วัน จะทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนกลับเร็วขึ้นมาช่วยชดเชยรายได้คิดเป็นสัดส่วน 20-26% ต่อเดือน

 

ดังนั้น หากขอขยายเครดิตเจ้าหนี้การค้าได้นานแค่ไหน จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถยืดการจ่ายเงินสดแก่เจ้าหนี้การค้าออกไป ทำให้มีเหลือเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องมาหมุนเวียนในธุรกิจเพื่อชดเชยรายได้ช่วงที่ขาดหายไปได้บ้าง บรรเทาผลกระทบธุรกิจได้ในยามที่เงินทุนหมุนเวียนตึงตัวสำหรับฟื้นตัวในที่ไม่นานนี้

 

2. ปกป้องธุรกิจให้ปลอดเชื้อโรค กล่าวคือ สถานที่ค้าขาย ให้บริการในโรงงาน มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องความสะอาด ปลอดเชื้อ เพราะหากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ ทุกกิจการกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง แต่ปรากฏว่า สถานที่ทำงานของท่าน พบลูกจ้างติดเชื้อเข้า ก็จะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของท่านให้หยุดชะงักอีกรอบ และหากลูกค้าท่านทราบเรื่องนี้ ก็จะเกิดภาพจำในหัวว่า สินค้าของท่านมาจากการผลิตของโรงงานที่มีลูกจ้างติดเชื้อ ก็อาจจะทำให้สินค้ายอดขายลดลงได้

 

 3. ทดลองช่องทางการตลาดใหม่ (ออนไลน์) สำหรับผู้ประกอบการที่ยังยึดติดกับการขายแบบเดิมๆ คือ มีหน้าร้าน รอลูกค้ามาซื้อ และมีพนักงานปิดการขาย ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนอยู่บ้าน ท่านก็ขายไม่ได้ สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นี้ มันบีบบังคับให้ท่านต้องแสวงหาช่องทางตลาดใหม่ แน่นอนว่า หนีไม่พ้นช่องทางออนไลน์ ถือว่าช่องทางออนไลน์เป็นช่องที่คนที่ไม่เคยลองก็ได้ลองเพราะต้องทำเพื่อความอยู่รอด

 

4. ติดตามมาตรการรัฐว่าช่วยเหลืออะไรบ้าง ในภาวะเช่นนี้ SMEs คงลำบากไปตามๆ กัน อะไรที่ดิ้นรนได้ ผมเชื่อว่าทุกคนทำหมด ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องสู้กันต่อไป”  สิ่งสำคัญคือ ต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อ SMEs ในรูปแบบต่างๆ

 

ผมหวังว่า ทั้งสี่แนวทางข้างต้น จะพอสะดุดความคิดของท่านได้บ้าง และผมขอให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยทุกท่านสามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้ครับทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาส แต่โอกาสมันไม่ง่าย ต้องหาให้เจอขอเป็นกำลังใจให้ครับ

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ธรรมทัช ทองอร่าม

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563