BBSลุย เมืองการบิน เฟสแรก4หมื่นล.

08 พ.ค. 2563 | 08:30 น.

 

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ไม่หวั่นโควิด เดินหน้าลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ประเดิมเฟสแรก 4 หมื่นล้านบาท ผุดอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับ 16 ล้านคน ก่อสร้าง 3 ปี ขณะที่ ไฮสปีดเทรน ลุยส่งมอบพื้นที่ได้ปีหน้า

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการต้องล่าช้าออกไป โดยโครงการที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ถึงวันนี้เป็นที่จับตาของหลายฝ่ายว่าจะสะดุดลงหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจของ“ฐานเศรษฐกิจ”พบว่า โครงการสำคัญของอีอีซี การขับเคลื่อนยังอยู่ในกรอบของแผนที่วางไว้

BBSลุย  เมืองการบิน  เฟสแรก4หมื่นล.

โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท ที่วันนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ประกาศความพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนทันที หากได้รับไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือต้นมิถุนายนนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส พร้อมลงทุนทันที หลังจากครม.เห็นชอบในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนี้ เพื่อนำไปสู่การลงนามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งร่างสัญญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด

ทั้งนี้ การลงทุนในเฟสแรกจะใช้เวลา 3 ปี เป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน มากกว่าในทีโออาร์ระบุไว้เพียง 12 ล้านคนต่อปี รวมถึงระบบเชื่อมต่อภายในอาคารผู้โดยสาร มูลค่าลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การบริหารโดยสนามบินนาริตะ โดยในช่วงก่อสร้างบีบีเอส จะจ่ายค่าเช่าที่ดินรวมอาคารสิ่งก่อสร้างกว่า 100 ล้านบาทต่อปี (3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปีและปรับเพิ่ม 9% ทุก 3 ปี) และเมื่อเปิดให้บริการในปี 2567

นอกจากจะจ่ายค่าเช่าที่ดินแล้วยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ก่อนหักค่าใช้จ่าย ซึ่งบีบีเอส เสนอมาสูงกว่า 5% โดยในช่วงปีแรกๆ ของการเปิดให้บริการจะอยู่ในหลักพันล้านบาท และจะทยอยเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นหลักหลายๆ หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นไปตามข้อเสนอการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ ที่เสนอไว้ที่ 305,555 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 50 ปี

ทั้งนี้ หลังเฟสแรกเปิดให้บริการ หากอัตราการใช้บริการของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง จะทยอยขยายการลงทุนในเฟสต่อไป ภายใต้การรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดที่ 60 ล้านคน

BBSลุย  เมืองการบิน  เฟสแรก4หมื่นล.

สำหรับการดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองการบิน การลงทุนจะมีทั้งที่บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BA และบีทีเอส จะดำเนินการเอง บางกิจกรรมอาจจะเปิดสัมปทานให้เอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

BBSลุย  เมืองการบิน  เฟสแรก4หมื่นล.

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้อยู่ในช่วงการส่งมอบพื้นที่ แต่ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 เบื้องต้นอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการเพื่อสรุปการเบิกจ่ายเงินของโครงการดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดินภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะเริ่มจ่ายเงินชดเชยสำหรับการเวนคืนที่ดินภายในปลายปีนี้ และสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมดให้กับกลุ่มซีพีภายในปี 2564

 

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) การเจรจากับกลุ่ม GPC ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากผลตอบแทนแก่รัฐ ต่างกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เคยอนุมัติราคากลางที่ 32,225 ล้านบาท ทำให้กลุ่ม GPC ต้องกลับไปจัดทำใหม่ และนำกลับมาเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ อีกครั้งภายในเดือน พฤษภาคม 2563 หากตกลงกันได้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ที่ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ไปแล้วนั้น ซึ่งการดำเนินงานขณะนี้ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยจะต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตสิ่งรุกลํ้าลำนํ้าจากกรมเจ้าท่า เพื่อขุดลอกลำนํ้าเพื่อทำการถมทะเล ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563