พิษโควิดฉุด BAM รายได้ Q2 วูบ

07 พ.ค. 2563 | 23:40 น.

หุ้นกลุ่มบริหารหนี้เดือนเมษายน ปรับขึ้นยกกลุ่มสูงกว่าตลาด แม้เจอปัญหางดประมูลขายทรัพย์ ผ่านกรมบังคับคดีตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จับตาไตรมาส 2 BAM กระทบมากสุด หลังรายได้จากการขายหลักประกันผ่านกรมบังคับคดีลดลง

การแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ทุกอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แม้แต่กลุ่มบริหารหนี้ ประกอบด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM), บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) และ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO) ต่างได้รับผลกระทบตามภาวะตลาดหุ้นเช่นกัน แต่ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ปรับขึ้น 2 ราย คือ BAM และ CHAYO ส่วน JMT ปรับลดลง

 

รายงานข่าวจากตลท.ระบุว่า ราคาหุ้นกลุ่มบริหารหนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ในเดือนเมษายน 2563 โดยปรับขึ้นทั้ง 3 ราย BAM ปรับขึ้น 20.00%, CHAYO ปรับขึ้น 70.21% และ JMT ปรับขึ้น 36.64% สูงกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น 15.61% ส่วนราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 BAM เพิ่มขึ้น 32.59%, CHAYO เพิ่มขึ้น 18.51% และ JMT ลดลง 10.50% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคมตลาด (มาร์เก็ตแคป) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน BAM เพิ่มขึ้น 22,997.52 ล้านบาท, CHAYO เพิ่มขึ้น 630 ล้านบาท และ JMT ลดลง 1,855.52 ล้านบาท

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศงดประมูลขายทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดีหลายแห่ง ตั้งแต่เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่า จะกระทบต่อหุ้นในกลุ่มบริหารหนี้ โดย JMT จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากที่บริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการหนี้ไม่มีหลักประกัน ส่วน CHAYO ที่มีรายได้จากหนี้ไม่มีหลักประกันมากกว่าส่วนของหนี้มีหลักประกันจะได้รับผลกระทบรองลงมา ขณะเดียวกัน ยังได้ผลบวกจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 9 ที่ทำให้สามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากหนี้มีหลักประกันได้แม้ไม่ต้องขายออกไป ต่างจาก BAM ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลบวกจากการปรับใช้มาตรฐานดังกล่าว

ขณะที่ BAM คาดว่า จะได้รับผลกระทบมากสุดในกลุ่ม จากที่มีรายได้จากการขายหลักประกันผ่านกรมบังคับคดีคิดเป็น 61% ของรายได้รวม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในงวดไตรมาส 2 ปี 2563 โดยคาดว่า แม้กรมบังคับคดีจะสามารถกลับมาเปิดการประมูลขายทรัพย์อย่างเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน 2563 แต่จะไม่สามารถเร่งขายหลักประกันออกไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการประมูลขายหลักประกันจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กรมบังคับคดีกำหนด และการเข้าประมูลทรัพย์ที่คาดว่าจะซบเซากว่าเดิมหลังจากการจำกัดการชุมนุมของคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสโควิด -19

พิษโควิดฉุด BAM  รายได้ Q2 วูบ

ในฝั่งผู้ซื้อหลักประกันคาดว่า จะได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องที่ลดลง ทำให้อาจเลื่อนการเข้าประมูลซื้อหลักประกันออกไป เป็นแรงกดดันต่อรายได้จากการขายหลักประกันของ BAM ตลอดทั้งปี จึงมีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-2564 และมูลค่าพื้นฐานของ BAM ลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงแนะนำขายทำกำไรหุ้น BAM ออกไปก่อน

นางสาวชาลี กือเย็น นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุว่า เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่พยายามขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ออกไปในไตรมาส 1 ปี 2563 โดย BAM แจ้งว่า มีการขายเอ็นพีแอลก้อนใหญ่ออกมาถึง 40,000 ล้านบาทในไตรมาสแรก จากระดับปกติปีละ 50,000 ล้านบาท และ BAM เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งซื้อไปถึง 30% ของเอ็นพีแอลที่นำออกมาประมูลขายในตลาด ทั้งนี้ หากใช้สมมติฐานว่า BAM ซื้อเอ็นพีแอลมาในราคาเท่าๆกับในอดีต ที่มีส่วนลด 50-60% จากมูลหนี้ คาดว่า บริษัทได้ใช้เงินไปแล้ว 5-6 พันล้านบาท ทำให้มีสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาในพอร์ตอีก 5-7%

 

ทั้งนี้จากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ธนาคารและ AMC ต่างเทขายเอ็นพีแอลออกมาจำนวนมาก และภายใต้ภาวะปัจจุบันได้ปรับลดประมาณการยอดขาย NPA ของ BAM ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 2,500 ล้านบาท และบริษัทยอมให้ส่วนลดมากขึ้น เพื่อแข่งกับธนาคาร จะส่งผลกระทบกับมาร์จิ้นของการขาย NPA ของ BAM

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม .. 2563