เพซและบ.ย่อยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลนัดไต่สวน 29 มิ.ย.นี้ 

05 พ.ค. 2563 | 00:52 น.

เพซและบ.ย่อย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลนัดไต่สวนแต่งตั้งผู้ทำแผน 29 มิ.ย.นี้  "สรพจน์ เตชะไกรศรี " เผยแนวทางฟื้นฟูกิจการ เร่งก่อสร้าง นิมิตร หลังสวน ยันมีสถาบันการเงินตกลงให้การสนับสนุนแล้ว 

 

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ PACE  แจ้งว่าตามที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพซ คันทรี่ คลับ จำกัด(PCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ (โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ100) ในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และ PCC ต่อศาลล้มละลายกลาง (ศาล) ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และ PCC ต่อศาลแล้วในวันที่ 24 เมษายน 2563 

ทั้งนี้ศาลได้รับคำร้องดังกล่าวของบริษัทฯ และ PCC แล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 และกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งบริษัทฯ และ PCC เป็นผู้ทำแผนในวันที่ 29 มิถุนายน 2563 โดย

1. บริษัทฯ และ PCC ในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล

2. บริษัทฯ และ PCC เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากศาลมีคำสั่งตั้งบริษัทฯ และ PCC เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บรรดาอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯและ PCC จะตกเป็นของบริษัทฯ และ PCC ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย

3. แนวทางการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และ PCC คือการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะสามารถโอนกรรมสิทธิให้แก่ผู้จองซื้อ  โดยเบื้องต้นสถาบันการเงินได้ตกลงที่จะให้การสนับสนุนโครงการนิมิต หลังสวน เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผน

หากบริษัทฯ และ PCC มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการประการใดต่อไป บริษัทฯ จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยทันที

“ที่ผ่านมา บริษัทฯตระหนักถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ ด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงินและองค์กร รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานทั้งหมด พร้อมกับได้มีการทำงานและให้ความร่วมมืออย่างดีกับทางสถาบันการเงินและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกันมาโดยตลอด 

และในที่สุด บริษัทฯได้ตัดสินใจเข้ายื่นร้องขอปรับโครงสร้างหนี้ผ่านการฟื้นฟูกิจการในศาล และบริษัทฯจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ลูกค้า พนักงาน และคู่ค้า โดยบริษัทฯได้เสนอตัวเป็นผู้จัดทำและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกับสถาบันการเงินและตัวแทนเจ้าหนี้ ด้วยการนำประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ได้เรียนรู้ เพื่อแก้ไขและบริหารจัดการให้บริษัทฯกลับสู่สภาวะปกติ” นายสรพจน์ เตชะไกรศรี กล่าว

 

ปัจจุบันบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินรวมประมาณ 12,054 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB จำนวน 10,835 ล้านบาท และหุ้นกู้เอเซีย พลัส PACE 202 A จำนวน 1,219 ล้านบาท ขณะที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนามี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการนิมิตหลังสวน และโครงการมหาสมุทรมูลค่ารวมราว 11,750 ล้านบาท

โดยเฉพาะโครงการนิมิตหลังสวน มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท มียอดขายแล้วกว่า 80 -90% หรือคิดเป็นยอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ราว 6,500 ล้านบาทที่จะทยอยโอนและรับรู้รายได้เมื่อการก่อสร้างเสร็จ โดยเหลือยอดขายอีกเพียง 1,500 ล้านบาท

โดยได้ดำเนินก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 70%  เสร็จไปกว่า 50 ชั้น จากพื้นที่โครงการทั้งหมดที่มีจำนวน 58 ชั้น  ซึ่งต้องการเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อลงทุนอีกราว 500-600 ล้านบาท หลังจากที่ธนาคารหยุดปล่อยสินเชื่อเพื่อรอความชัดเจนหลังศาลฯมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟื้นฟูกิจการ และแผนเดิมโครงการนิมิตรหลังสวน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ภายในไตรมาส 4/2563

 

นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563  บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อศาลล้มละลาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของกลุ่มบริษัทดีนแอนด์ เดลูก้า อิงค์ ยังช่วยให้บริษัท เพซ ฯ สามารถหยุดรับรู้ผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการของศาลในการจัดการหนี้สินของบริษัทฯ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม บริษัท ดีน แอนด์เดลูก้า อิงค์สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต