"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

04 พ.ค. 2563 | 07:45 น.

การจากไปของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้บุกเบิกโรงแรมดุสิตธานี ด้วยวัย 99 ปี นับเป็นการสูญเสียหญิงเหล็กผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย 

โรงแรมดุสิตธานีในอดีต

ก่อนที่จะมาเป็น 'ดุสิตธานี' ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ... ตอนหนึ่งของหนังสือ "คนแก่อยู่กับความหลัง" ที่เขียนโดย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด เขียนไว้เมื่อปี 2535 ขณะอายุ 70 ปี 

ท่านผู้หญิงชนัตถ์  เล่าว่า เริ่มจุดประกายจากเรียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับเมืองไทยได้ขับรถตระเวนท่องเที่ยวและพักตามโมเต็ลต่าง ๆ ทำให้คิดว่า ธุรกิจโรงแรมคงเป็นอาชีพอิสระ เพราะเวลาไปพักแต่ละแห่งไม่เคยพบเจ้าของโรงแรมหรือผู้จัดการเลย ด้วยเป็นคนที่ชอบความอิสระ กลับมาเมืองไทยจึงเริ่มทำโรงแรมเล็ก ๆ ชื่อ 'ปริ๊นเซส' 60 ห้อง ที่ปากตรอกโฮเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

จุดหักเหสร้าง 'ดุสิตธานี'

เมื่อทำโรงแรมเข้าจริง ๆ จึงรู้ว่า เหมือน "เข็นครกขึ้นภูเขา" การทำธุรกิจโรงแรมขณะนั้น ท่านผู้หญิงระบุว่า ต้องประหยัดทุกบาททุกสตางค์ เพราะกลัวเงินจะหมดก่อนสร้างเสร็จ เพราะใช้เงินทุนของคุณพ่อ-คุณแม่ แต่สมัยนั้นโรงแรมปริ๊นเซสก็มีสระว่ายน้ำเป็นโรงแรมแรกในประเทศไทย

แต่ด้วยทำเลที่ตั้งสถานที่คับแคบขยับขยายยาก และเริ่มเก่าลงเรื่อย ๆ อีกทั้งเป็นที่เช่าที่พี่สาวจะเอาคืน บ่อยครั้งมีปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟดับตลอด ส่วนแขกเข้าพักก็มีลูกเรือของสายการบินแพนอเมริกามาใช้บริการ ทำให้มีต่างชาติเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังได้รับคำติเตียนมาก ๆ เพราะโรงแรมไม่ดี มีข้อบกพร่องมาก จึงเป็นจุดให้คิดอยากสร้างโรงแรมที่สมบูรณ์แบบ

ในปี 2508 ได้รับเชิญจากศูนย์เพิ่มผลผลิตกระทรวงอุตสาหกรรมให้ร่วมเดินทางประเทศญี่ปุ่น และได้เข้าพักที่โรงแรมโอกุระ (Okura Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อ มีนายโนดะ (Noda) เป็นประธาน และเขาได้แนะนำให้รู้จักกับนายชิบาต้า (Shibata) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโรงแรมโอกุระ และมีการพูดคุยถึงการทำโรงแรมที่กรุงเทพฯ แบบ Turn key และแบบกู้ระยะยาว ในที่สุดซิบาต้าก็ตกลงเป็นคนออกแบบให้

แบบใกล้เสร็จ บังเอิญได้เดินทางไปรวมประชุม PATA (สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก) ที่เมืองซีแอตเติล และได้ไปเยือนโรงงานสร้างเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต ที่มีถึง 400 ที่นั่ง จึงได้เปลี่ยนแบบให้ล็อบบี้ใหญ่ขึ้น ให้มีล็อบบี้ 2 ชั้น ชั้นล่างสำหรับกลุ่มทัวร์ ชั้นบนสำหรับแขกวีไอพี และมีการแก้ไขแบบอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

● ทุนน้อย "เอาบ้าน-ที่ดินจำนอง"

เมื่อออกแบบแล้วเสร็จ ประเมินค่าก่อสร้างและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สูงถึง 450 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้มากเกือบเท่าตัว มีผู้แนะนำให้สร้างที่ละครึ่ง แต่คิดแล้วการสร้างภายหลังจะสร้างความไม่สะดวก ทั้งผู้ที่มาพักและผู้บริหาร จึงตัดสินใจทำทั้งหมดพร้อมกัน ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินมาได้อย่างไร

ขณะที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด มีทุนจดทะเบียนครั้งแรกเพียง 40 ล้านบาท จึงได้ใช้วิธีการเชิญชวนผู้ที่เคารพและเพื่อน ๆ มาช่วยซื้อหุ้น ช่วงก่อตั้งบริษัท ได้อาสาสมัครของทุนร็อคกี้ เฟลเลอร์ เออร์วิน ชูแมน (Erwin Schuman) ที่เคยเป็นเจ้าของโรงแรมที่มีชื่อแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียมาเป็นที่ปรึกษา

ขณะนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้หารือกับที่ปรึกษาและบอกถึงความต้องการ ว่า

1.ต้องการให้บริษัทดุสิตธานีจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจริง ๆ ช่วงนั้นยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ทำ เพราะคนไทยยังไม่นิยมเอาเงินให้คนอื่นบริหาร จึงไม่กล้าจดทะเบียนมาก กลัวขายยาก

2.ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนครบ 100% เพียง 30-35% ก็พอที่เหลือจะกู้และใช้ระบบเงินผ่อนจาการซื้อสินค้า

3.มีทุนน้อย แต่ก็เตรียมที่ดินและบ้านมาจำนอง เพื่อหาทางช่วยบริษัทฯ

4.สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า เพื่อให้เป็นลูกค้าโรงแรม และคิดค่าเช่าถูกกว่าธรรมดา เพื่อขอค่าเช่าล่วงหน้าหรือ 2 ปี เอามาช่วยโรงแรมอีกทางหนึ่ง

และประการที่ 5.ด้วยความที่เป็นผู้หญิงคนไทยทำงานตัวคนเดียว หาเงินด้วยตนเอง หากนายชูแมนสามารถทำโครงสร้างการเงินให้ได้ ก็จะช่วยให้โครงการนี้ง่ายขึ้น และได้ชื่อว่าช่วยให้ทำให้สำเร็จ

"ในที่สุด ชูแมนก็ช่วยทำ Projection Cost Profit and Loss 10 ปี ทั้งช่วยแก้แบบให้ เพิ่มทางรถวิ่งขึ้นชั้นสอง และช่วยแก้แบบให้ครัวเป็นจุดศูนย์กลาง ที่สามารถส่งอาหารไปยังห้องจัดเลี้ยงและภัตตาคารได้"

● 'ดุสิต' เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ยังเล่าอีกว่า ช่วงจดทะเบียนตั้งบริษัท หลายฝ่ายแนะนำให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะให้บริการแก่ชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เรียกง่ายและเข้าใจง่าย แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นโรงแรมคนไทย โรงแรมนี้อยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะการเขียนภาษาไทยจะต้องใช้ชื่อยาว ซึ่งถ้าผนวกหลายคำก็ยิ่งเรียกยากและยาวมาก และก็ไม่ชอบชื่อ 'แปซิฟิค' หรือ 'อิสเทิร์น' เป็นอันขาด

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

ครั้นเมื่อได้เช่าที่กับสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้วได้ทำเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูป เทียน ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานอภัยที่จะต้องรื้ออาคารเก่า เมื่อไปถวายบังคม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ในพระองค์ท่าน ก็ได้นึกถึงเมืองสมมติที่พระองค์ท่านได้พระราชทานนามอันเป็นเมืองประชาธิปไตย คือ 'ดุสิตธานี'

คำว่า 'ดุสิต' เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 การออกเสียงก็ไพเราะ ความหมายและชื่อเป็นมงคลแก่ผู้ที่เข้าพัก คือ ได้อยู่บนสวรรค์ชั้น 4 และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงตั้งชื่อบริษัทว่า 'ดุสิตธานี' ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วย แต่ก็ยอมตามใจ

ขณะที่ ช่วงก่อสร้างมีผู้แนะนำให้กู้แบบ Turn-Key กู้ตั้งแต่ออกแบบจนโรงแรมก่อสร้างแล้วเสร็จแน่ แต่เกรงว่าไม่ถูกใจจะแก้ไขไม่ได้ จึงตัดสินใจเป็นผู้รับเหมาเสียเอง โดยจ้างผู้รับเหมารายย่อย ประหยัดงบไปได้ 15-20% แม้จะเหนื่อยมาก แต่ไม่มีวิธีใดจะลดต้นทุนได้

จึงตัดสินใจยอมเหนื่อย ซื้อเสาเข็ม วัสดุตกแต่งซื้อเองทั้งหมด จนถึงจานชาม โดยมีเจ้าหน้าที่ของคณะผู้ออกแบบจากญี่ปุ่น 14 คน มาช่วยควบคุมงานและสอนผู้รับเหมาไทยด้วย

ช่วงนี้แม้แต่ทำสวนบริเวณน้ำตก ไม่มีงบ ช่วงเย็นก็ซื้อต้นไม้มาลงปรับดินทำกับลูก ๆ ได้ลูกเมียคนงานมาช่วยบ้าง ต้นปาล์มทุกต้นที่นี่ท่านผู้หญิงจึงปลูกเองกับมือ

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

● 'ฟอร์จูน' ยกให้ติด 1 ใน 10 โรงแรมโลก

ในที่สุดโรงแรมดุสินตธานีก็สามารถเปิดให้บริการในปี 2513 ช่วง 2 ปีแรก ได้เชนโรงแรม WIH (Western International Hotels) เข้ามาบริหาร วัตถุประสงค์ของท่านผู้หญิงขณะนั้นจะเปิดดุสิตธานีให้ออกมา "ดีที่สุด" เท่าที่จะทำได้ และไม่ต้องการดึงพนักงานจากที่อื่น แต่จะทำการฝึกอบรมและสอนผู้ที่รับสมัครมาทำงานล่วงหน้า 6-8 เดือน โดยจ้างครูจากต่างประเทศมาฝึกอบรมทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ งานเปิดโรงแรมมีผู้ร่วมงาน 3,000 คนอยู่ทั่วบริเวณ

หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือฟอร์จูนได้ลงว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรม 1 ใน 10 ของโลก ที่มีที่ตั้งและสิ่งแวดล้อมที่ดี การออกแบบตกต่างและมีการบริการที่ดี แน่นอนว่าท่านผู้หญิงดีใจมาก

แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะโปรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าโรงแรมจะเปิดแล้ว แต่ด้วยปัญหามีค่าใช้จ่ายเกินกว่าทุนมาก ทำให้มีหนี้สินมาก แม้จะประหยัดทุกบาททุกสตางค์แต่ก็ไม่เป็นผล และด้วยเป็นคนที่รักษาคำพูด เมื่อถึงกำหนดต้องชำระหนี้ ค่าดอกเบี้ย แต่ไม่สามารถแตะต้องเงินในบัญชีของโรงแรมได้ จึงจำเป็นต้องยกเลิกการบริหาร WIH ในที่สุด เพราะไม่มีทางออก ข้าวของหรือแม้กระทั่งบ้านที่คิดว่าไม่กล้าแตะ แต่ก็ได้เอาไปจำนอง เอาเงินมาให้บริษัทเป็นค่าดอกเบี้ย

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

เมื่อยกเลิกการบริหารของ WIH สิ่งแรกที่ทำ คือ ไปทำงานฝ่ายบัญชี ดูว่าหนี้อันไหนต้องชำระก่อน อันไหนผ่อนได้ พยายามจัดสรรเงินให้ทัน พร้อมกับวางนโยบายเอาสิ่งที่ดีของไทยมาอวดชาวต่างประเทศ เช่น การจัดดอกไม้ ร้อยพวงมาลัย อาหารคาวหวานของไทย เอาออกมาบริการแทนอาหารต่างประเทศ พนักงานหญิงฝ่ายต้อนรับให้แต่งชุดผ้าไหมไทย เพื่อให้เห็นศิลปวัฒนธรรมไทยและความอ่อนช้อยของสตรีไทย รวมถึงให้ความสนใจตลาดในประเทศ


● พนักงานสไตรค์เจ็บปวดที่สุด

เหตุการณ์ที่สะเทือนใจที่สุด ผู้ก่อตั้งเล่าไว้ คือ การสไตรค์ที่เกิดขึ้นในปี 2516 จากปัญหาทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ดุสิตธานีก็ได้ผลพ่วงจากเรื่องนี้ด้วย กระทั่งถึงขั้นปิดโรงแรม แม้จะรู้ดีว่า ... การหยุดนานเท่าไร เป็นการเสียหายมากเท่านั้น

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"


การสไตรค์ขณะนั้น ลูกช้างแสนรู้ของโรงแรมชื่อ 'บิมโบ้' ที่ท่านผู้หญิงเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถูกวางยาตาย พนักงานไล่แขก ถือป้ายทั่วล็อบบี้ ปิดทางด้านข้าง ห้ามพนักงานที่จะเข้าเวรเข้า-ออก พนักงานชายที่สไตรค์คนหนึ่งไม่ใส่เสื้อผ้ากระโจนลงสระน้ำ มีการทำลายทรัพย์สิน ไล่แขก ถึงขั้นขู่เผาโรงแรม สร้างความเดือดร้อน วุ่นวายมาก เสียงดังไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเป็นการรบกวนคนไข้

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านผู้หญิงรู้สึกเสียใจมากที่ไม่สามารถทำอะไรได้ และแม้จะเป็นการทำลายเศรษฐกิจในช่วงนั้น แต่ก็ยังดีที่เหตุการณ์ไม่รุกลามไปโรงแรมอื่น ๆ

"ดิฉันทนไม่ได้ที่จะเห็นพนักงานที่เราได้เฝ้าอบรมฝึกฝนให้ความรู้ มีระเบียบวินัยของการทำงานในวิชาชีพนี้ แต่กลับแสดงความก้าวร้าว โหดร้าย ทารุณ ป่าเถื่อน ไม่มีสัมมาคารวะ ดิฉันถือว่าเป็นการทำลายวิชาชีพอย่างไม่สามารถหาสิ่งใดมาลบล้างได้ ดิฉันไม่ต้องการให้เขาเหล่านี้เข้ามาทำลายวิชาชีพนี้อีกต่อไป ถึงตกลงใจไม่เปิดโรงแรมและไม่รับพนักงาน 164 คน ที่สไตรค์กลับเข้าทำงาน"

● สร้าง MRT เกือบไม่มีที่จอดรถ

หลังจากปิดโรงแรมเดือนเศษและกลับมาเปิดบริการใหม่ ท่านผู้หญิงพยายามที่จะไม่คิดถึงการสไตรด์ แต่ก็ไม่ได้ผล จึงมอบให้ คุณวรพงษ์และคุณสมพจน์ ปิยะอุย น้องชายเข้ามาดูแล แต่หลังจากการท่องเที่ยวชะลอตัวลงและมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นมาก ทำให้เกิดความวิตกว่า ดุสิตธานีจะสู้คู่แข่งขันไม่ได้และต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

ในที่สุด ท่านผู้หญิงจึงกลับมาเข้ามาทำงานที่ดุสิตธานีใหม่อีกครั้ง และไม่กี่ปีคล้อยหลังลูกชายคนโต "ชนินทธ์ โทณวณิก" ซึ่งจบปริญญาโทด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยบอสตัส สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกสอนหนังสือที่จุฬาฯ เข้ามาเรียนรู้งานในตำแหน่งกรรมการบริหารในปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2539 มีการประกาศเวนคืนที่บริเวณลานจอดรถเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลต่อโรงแรมมากและทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศที่เคยให้เงินกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกลุ่มดุสิตธานีไม่ต่อสัญญาเงินกู้ เพราะ รฟม. ต้องการเอาที่ดินลานจอดรถและสะพานทางขึ้น เพื่อสร้างสถานีและลานวางวัสดุก่อสร้างสำหรับสร้างอาคารใต้ดิน 5 ชั้น

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

ช่วงก่อสร้างรถยนต์ไม่สามารถเข้าจอดได้ มีเพียงส่งแขกและวนออกทันที ซี่งจะทำให้ดุสิตธานีเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีที่จอดรถ ส่งผลกับรายได้โดยตรง ท่านผู้หญิงจึงหาทางแก้ไข จนในที่สุดก็ไกล่เกลี่ยกันได้ ในปี 2541 ซึ่งช่วงนั้นหลายคนคงพอจำได้ว่า ท่านผู้หญิงถึงขั้นเสียน้ำตาไปหลายครั้งหลายคราว กระทั่งออกมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โรงแรมดุสิตธานีได้ปิดฉากหลังจากให้บริการมาครึ่งศตวรรษ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 ลงเพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ และวันนี้ตำนานผู้ก่อตั้งก็ได้ปิดฉากลงเช่นกัน 

ชนินทธ์ โทณวณิก

"ชนินทธ์ โทณวณิก" รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และในฐานะทายาทคนโต ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง และมีประสบการณ์ตรงจากการช่วยงานคุณแม่ตั้งแต่เริ่มต้นเท่าที่เด็กชายวัย 13 ปีขณะนั้นจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยกันปลูกต้นไม้บริเวณสระน้ำและอื่น ๆ เคยเล่าว่า

"ช่วงนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร คุณแม่จะเล่าให้ลูก ๆ ฟัง เพราะเรา 3 คน นอนกับคุณแม่ ส่วนคุณพ่อเป็นข้าราชการไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ อย่างไรก็ดี กว่าจะตัดสินใจรื้อโรงแรมเพื่อสร้างใหม่ที่ว่าเป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิตแล้ว การตัดสินใจว่า ควรจะนำสิ่งที่ผูกพันอะไรออกไปด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน"

เขายกตัวอย่าง ต้นไม้ที่คุณแม่ปลูก เราจะนำไปด้วยและนำกลับเข้ามาปลูกใหม่เมื่อโรงแรมสร้างเสร็จ โดยจะคัดแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ต้นไม้ที่นำไปปลูกไว้ตามโรงแรมในเครือ 2.ต้นไม้ที่จะส่งมอบให้สวนลุมพินี และ 3.ต้นไม้ที่คุณแม่ปลูกจะถูกนำไปอนุบาล โดยนำออกไปอย่างให้ กิ่ง ก้าน สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะต้นลีลาวดี 2 ต้น หน้าน้ำตกขั้นบันได

"วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายแพงมาก ตกต้นละ 3 แสนบาท เมื่อเทียบกับซื้อต้นไม้ใหม่มาปลูกต้นละ 5 หมื่นบาท แต่เรายอมจ่าย เพราะเป็นความผูกพันมีผลต่อจิตใจ ขณะที่ การรื้อถอนจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยใช้วิธีตัดตัวอาคารออกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปทำลายที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละออง เพิ่มมลพิษ ซึ่งจะเริ่มงานรื้อถอนได้ในเดือนเมษายนนี้"

"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"
โรงแรมดุสิตธานีนับเป็น 5 ดาวรุ่นแรกของเมืองไทย เป็นตึกที่สูงที่สุดในขณะนั้น ออกแบบโดยสถาปนิกต่างชาติที่ผสมผสานกับความเป็นไทยร่วมสมัย จึงยังเหลือร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของเมืองดุสิตธานี ความผูกพันทางจิตใจของเจ้าของและคนไทยที่จะต้องถูกนำไปอวดโฉมในโครงการใหม่ถึง 7 อย่าง โดยความร่วมมือของคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วย

1.ยอดเสาสีทอง
2.น้ำตกและต้นไม้
3.ล็อบบี้
4.ห้องไลบรารี
5.ห้องไทยเฮอร์ริเทจ สวีต
6.เปลือกอาคารทองเหลือง
7.ห้องอาหารไทยเบญจรงค์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย”

เปิดโมเดลมิกซ์ยูส ดุสิตธานีมูลค่า3.67หมื่นล้าน