โอกาสแจ้งเกิดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

04 พ.ค. 2563 | 04:51 น.

สถาบันยานยนต์ ระบุรถ 2 ล้อไฟฟ้าไทยจะเกิดได้ รัฐและผู้ผลิตต้องผนึกกำลังร่วมสร้างความเข้าใจ กำหนดแนวทางมาตรฐานแบตเตอรี - ระบประจุไฟฟ้า มั่นใจหากนโยบายรัฐชัดเจน มีเป้าหมายค่ายรถก็พร้อมเดินหน้าตาม

 

ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้งาน และการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยบทสรุปพบว่า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีข้อดีในเรื่องลดมลพิษทางอากาศและประหยัดต้นทุนการใช้งาน แต่การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องท้าทายที่ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องร่วมกันดำเนินการ 


สำหรับสิ่งที่ต้องร่วมกันดำเนินการประกอบไปด้วย  ประการแรกคือ การสร้างความรู้และทำความเข้าใจคุณลักษณะและความแตกต่างของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถที่ใช้เครื่องยนต์ ว่ามีจุดเด่นจุดด้อยการใช้งานแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องสมรรถนะและต้นทุนการใช้งานในระยะยาว


ประการต่อมาคือ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีระยะทางวิ่งต่อการเติมพลังงานหนึ่งครั้งต่ำกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไป  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเติมพลังงานระหว่างวัน ซึ่งระบบประจุไฟฟ้าแบบใช้เครื่องประจุ (Charger) และแบบสลับเปลี่ยน (Swapping) มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป 


ดังนั้น ประเทศไทยควรกำหนดวิธีการประจุไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบประจุไฟฟ้า เช่น มาตรฐานเต้ารับเต้าเสียบ หรือมาตรฐานแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้ เพื่อลดปัญหาความเข้ากันได้ระหว่างแบรนด์ และการผูกขาดธุรกิจประจุไฟฟ้า
โอกาสแจ้งเกิดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

ประการที่สาม แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสามารถลุกไหม้ได้หากเกิดการลัดวงจร หรือใช้งานไม่ถูกต้อง ดังนั้น มาตรฐานความปลอดภัยของแบตเตอรี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการใช้งาน หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระบบแบตเตอรี่จะไม่เป็นสาเหตุทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น 


ปัจจุบัน องค์กรสหประชาชาติ (United Nation) ได้ประกาศข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในยานพาหนะขนาดเล็ก (L Category) เรียกว่า UN ECE Regulation No.136 หรือ UNECE R136 แต่อย่างไรก็ตามข้อกำหนด UNECE R136 ยังไม่ถูกประกาศใช้อย่างแพร่หลายมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ประกาศใช้ อาทิ ญี่ปุ่น จึงส่งผลให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในปัจจุบันยังไม่ผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัย 


เนื่องจากการทำให้แบตเตอรี่ผ่านข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งส่งผลให้ราคาของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ ดังนั้น รัฐจึงต้องพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย
 

 

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ต้องให้ความสนใจ และแก้ไขความท้าทายในการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทุกด้านไปพร้อมกับนโยบายส่งเสริมของรัฐบาล เช่น กำหนดเป้าหมายการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และควบคุม/ลดปริมาณรถจักรยานยนต์เก่า กำหนดมาตรฐานวิธีการประจุไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ที่เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 


ในส่วนของผู้ประกอบการก็สามารถกำหนดรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับความท้าทาย และนโยบายของภาครัฐได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์สำหรับการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย