มูลค่าตลาดรวม SET 4 เดือนแรก วูบ  2.75 ล้านล้านบาท

03 พ.ค. 2563 | 11:53 น.

มูลค่าตลาดรวม SET 4 เดือนแรก วูบ  2.75 ล้านล้านบาท หรือ  -16.42%  ขณะที่ฟันด์โฟลว์ไหลออก 1.62 แสนล้านบาท เฉพาะเดือนเม.ย. ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4.69 หมื่นล้านบาท  

 

รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนเม.ย  63 ดัชนี SET ปิดที่ 1,301.6 จุด ปรับ -17.6% จากสิ้นปี 2562 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนที่ผ่านมา +15.6%  โดยมูลค่าตลาดรวมของ SET ณ สิ้นเดือนเม.ย.อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ปรับลดลงจากปี2562 ที่ 16.75 ล้านล้านบาท อยู่ที่  -16.42%  หรือปรับลดลง  2.75 ล้านล้านบาท 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในเดือนเม.ย. 63 มากถึง 4.69 หมื่นล้านบาท ทำให้ 4 เดือนแรกปี 2563 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมอยู่ที่ -1.62 แสนล้านบาท ส่วนนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิสะสม 1.15 แสนล้านบาท 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส หรือ ASPS ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน เม็ดเงินต่างชาติทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญ ( ytd ) โดยเป็นการขายสุทธิในทุกกประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกขายสุทธิกว่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ 1.7 หมื่นล้านเหรียญ ตามด้วย อินโดนีเซีย 1204 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ 934 ล้านเหรียญ และไทยที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 กว่า 5.0 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.62  แสนล้านบาท  ( ปี 2561 ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2.87 แสนล้านบาท และปี 2562 ขายสุทธิ 4.52 หมื่นล้านบาท )

ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 4 เดือนแรก ( YTD) 1.19 แสนล้านบาท  (จากปี 2561 ที่ซื้อสุทธิ 2.86 แสนล้านบาท และปี 2562 ขายสุทธิ 1.59 หมื่นล้านบาท)

ส่วนแนวโน้มฟันด์โฟลว์ในเดือน พ.ค. 2563  ASPSคาดยังไหลออกอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยที่ยังไม่นิ่ง รวมถึงเดือนพ.ค.มักเป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทยมากที่สุด เฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท  เนื่องจากเดือน พ.ค. เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้วกว่า 408 บริษัท ใน 488 บริษัท  (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล) ทําให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ยังได้มีการเก็งกําไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านๆ มา  

ขณะที่แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯ ที่เคยพยุงตลาดเสมอมาก ( ซื้อสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท  YTD )เริ่มชะลอลงในช่วงท้ายๆ ของเดือนเม.ย. 2563 จึงมีโอกาสรับมือ Sell in May ได้จำกัด เนื่องจากข้อมูล กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเงื่อนไขพิเศษ (SSFX) ทั้งหมด 15 กองทุน ที่มีการอัพเดท ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 ยังไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเท่าที่ควร โดยมียอดซื้อสะสมเพียง 950 ล้านบาทเท่านั้น  

ทั้งนี้ในเดือนพ.ค. นี้คาดว่าแรงซื้อกองทุน SSSX ยังมีโอกาสแผ่วเหมือนเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากยังเป็นช่วงที่นักลงทุนยังจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด รวมถึงดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่าในเดือนที่ผ่านมามาก