โลกเปลี่ยน คนปรับ

03 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 2571 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          ผมได้รับบทความพิเศษชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความพยายามในการทำงานของบรรดากูรูจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การกำกับของ “ดร.ดำ” สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ซึ่งน่าจะเป็นการจุดประกายให้กับทุกท่านได้มองเห็นโอกาสในวิกฤติ

          บทความชุดนี้มีหลายตอน ผมจะกลั่นออกมา เพื่อเป็นเสมือนแสงเทียนแห่งปัญญาที่สังเคราะห์ “โลกหลังโควิด -19” ว่าจะเป็นโลกที่มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เป็นการปรับเปลี่ยนทั้งเชิงโครงสร้างและ พฤติกรรมแบบ “ภาคบังคับ” ก่อให้เกิดโลกที่ผู้คนต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น

          การกระทำของบุคคลหนึ่ง ย่อม ส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่นไม่มากก็น้อยจนอาจกล่าวได้ว่า “จากนี้ไปผู้คนในโลกสุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน”

เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ใน “โลกที่ไร้สมดุล ” ความไร้สมดุล ในสภาวะที่พวกเราต้องอิงอาศัยกันมาก

          มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า “You can’t stop the waves but you can learn to surf.” 

          เราหยุดคลื่นไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้การโต้คลื่นได้

          ดังนั้น หากต้องการให้ความเป็นปกติสุขกลับคืนมาในโลกหลังโควิด-19 พวกเราต้องคืนความสมดุลให้กับโลกธรรมชาติ ปรับสมดุลในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พร้อมๆ กับลดทอนการบริโภคการผลิต การแข่งขันการใช้ทรัพยากร จากนี้ไปเวลาจะทำอะไรต้องคิดให้ลุ่มลึกและแหลมคมมากขึ้น มองออกไปในมิติที่กว้างขึ้นและยาวขึ้น  

          ที่สำคัญ คิดเพื่อส่วนรวมและคิดเผื่อคนรุ่นหลังด้วย

          “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้ํากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดจึงจะรอด” ชาล์ส ดาวิน เคยพูดไว้

          ครั้งหนึ่ง กระแส “โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ” ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหลอย่างเสรีของทุน สินค้า บริการ รวมถึงผู้คน พวกเรากำลังเผชิญกับกระแส “โลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงและภัยคุกคาม”  หลายความเสี่ยงและภัยคุกคามได้ยกระดับจาก Local 2 Local ไปสู่ Global 2 Global ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างกับ ประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจรวมไปถึงโรคโควิด -19 ที่พวกเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  

          อาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิด “หนึ่งโลก หนึ่ง ตลาด” (One World, One Market) พร้อม ๆ กันนั้น โลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงและภัยคุกคาม ได้ก่อให้เกิด “หนึ่ง โลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” (One World, One Destiny)

          พวกเรากำลังเผชิญกับ “วิกฤติซ้ำซาก” ที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ต้ังแต่ “วิกฤตต้มยากุ้ง” ที่เริ่มต้นที่ประเทศไทย ในปี ค.ศ. 1997 มาจนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี ค.ศ. 2019 บางวิกฤติ เป็น “วิกฤติเชิงซ้อน” ที่หลายวิกฤติได้กระหน่ำซ้ำเติมในเวลาเดียวกัน   

          อย่างในกรณีของประเทศไทยที่ประสบปัญหาโรคโควิด-19 แล้วยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิดที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

          คำถามดังๆ คือเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางหนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม

          ในบริบทของการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ การรับทราบเพียง “เหตุการณ์” (Events) (อย่างเช่นการเผชิญกับวิกฤติในที่นี้) อาจเพียงพอในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่เพียงพอในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          เราอาจต้องการข้อมูลที่สามารถแสดง “รูปแบบ” หรือ “แนวโน้ม”(Patterns/Trends) เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่โลกหลังโควิดเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ  

          การรับทราบถึงรูปแบบหรือแนวโน้มของเหตุการณ์นั้นๆ ( อย่างเช่น การเทียบเคียงรูปแบบของโรคโควิด-19 กับโรค SARS ในอดีต) ก็อาจไม่เพียงพอเช่นกัน  

          การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruptive Change) ไมว่าจะมาจากมิติทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม โมเดลธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค หรือรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ ทำให้แบบจำลองของรูปแบบหรือแนวโน้มที่พัฒนาขึ้นมานั้น มีความคลาดเคลื่อน มีข้อจำกัด สามารถใช้งานได้กับบางเงื่อนไข หรือบางบริบทเท่านั้น หรืออาจจะใช้งานไม่ได้ เลยในบางกรณี!

          ในสถานการณ์แบบนี้ เราจำเป็นต้องหยั่งรู้ถึง “โครงสร้างเชิงระบบ” (Systemic Structure) ที่สามารถแสดงกลไกความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ อย่างเป็นระบบ มิเพียงเท่านั้นในสถานการณ์ที่ปฏิสัมพันธ์ มีความซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนในระดับสูง (อย่างเช่นโลกหลังโควิด) เราอาจจะต้องหยั่งรู้ถึง “ความคิด ฐานราก” (Mental Model) ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รูปแบบ ตัวขับเคลื่อน และผลลัพธ์ของ ปฏิสัมพันธ์ในเรื่อง ๆ นั้น

          การเข้าถึงความคิดฐานราก จะทำให้เราเข้าใจกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้เราเข้าใจกฎบัญญัติ (Rule of the Game)ที่เป็นฐานรากกำหนดที่มา ที่ไป หรือจุดเป็นจุดตายของเหตุการณ์นั้น ๆ อันนำมาสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

          สถานการร์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราต้องเข้าใจ เข้าถึง ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ให้ได้

          เพราะวิกฤติซ้ำซาก และ วิกฤติเชิงซ้อน ได้กลายเป็น “ภาวะปกติใหม่” เพื่อให้พวกเราสามารถหลุดพ้นจากวิกฤติซ้ำซากและวิกฤติเชิงซ้อน เราจำเป็นต้องพิจารณาหยั่งลึก ถึงรากเหง้าของปัญหา ที่เป็นเสมือนก้นของ ภูเขาน้ำแข็ง  

          “กระบวนทัศน์การพัฒนาที่มุ่งสู่ความทันสมัย” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นต้ังอยู่บน ความคิดฐานรากของ “ตัวกูของกู” (Ego-Centric Mental Model) ที่เป็นปฐมบทก่อให้เกิด รอยปริในระบบ

          รอยปริในระบบดังกล่าวได้นาพาไปสู่ “โลกที่ไร้สมดุล” (Global Imbalance) ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาความไม่ยั่งยืน

          โลกที่ไร้สมดุลส่งผลให้เกิดโลกแห่งความเสี่ยงและภัยคุกคาม และนาพาไปสู่วิกฤติซ้ำซากและวิกฤติเชิงซ้อน ที่ได้กลายมาเป็น “ภาวะปกติใหม่” ในโลกปัจจุบัน