สังคมอยู่ไม่ได้   ธุรกิจครอบครัวก็อยู่ไม่ได้(1)

05 พ.ค. 2563 | 01:02 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

([email protected])

 

เมื่อมาถึงจุดหนึ่งในวงจรชีวิตธุรกิจครอบครัว คนเป็นเจ้าของอาจถามตัวเองว่าจะสามารถช่วยเหลือชุมชนที่พวกเขามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมมาตลอดได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงได้เห็นธุรกิจครอบครัวหลายแห่งให้การสนับสนุนการกุศลโดยตรง

 

ขณะที่ธุรกิจบางแห่งตั้งมูลนิธิที่สนับสนุนค่านิยมของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายด้านการกุศล ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวและสำนักงานครอบครัวกำลังหันมาตอบแทนสังคมมากขึ้น โดยการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (impact investing) ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หรือเพิ่มเติมนอกเหนือจากการได้รับผลตอบแทนทางการเงิน แต่ต้องมีการระบุสาเหตุ วัตถุประสงค์ทางสังคมและผลตอบแทนทางการเงินโดยมีการวัดผลการดำเนินงานเฉพาะของทั้ง 2 ด้าน

สังคมอยู่ไม่ได้   ธุรกิจครอบครัวก็อยู่ไม่ได้(1)

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ ทั้งนี้จากข้อมูลเครือข่ายการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั่วโลก พบว่าการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยตลาดการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบทั่วโลกในปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 502 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ผลการสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกของ Deloitte ในปีค.ศ. 2019 พบว่าผู้ถูกสำรวจ 19% ระบุว่าการสร้างผลกระทบทางสังคมด้วยธุรกิจเป็นหนึ่ง

 

 

 

 

 

ในสิ่งที่ครอบครัวให้ความสำคัญในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า แต่ในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวเมื่อเอ่ยถึงวิธีการลงทุนความมั่งคั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมองหาหลากหลายวิธีที่จะทำให้แน่ใจว่าผลงานของพวกเขาจะต้องสร้างผลกระทบได้อย่างยาวนาน

 

ทั้งนี้การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมนั้นมีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจ่ายเงินล่วงหน้าไปจนถึงการระดมทุนตราสารหนี้ ซึ่งผู้ให้บริการจะแบกรับความเสี่ยงร่วมกับผู้กู้ เพื่อการลงทุนที่การจ่ายเงินมาพร้อมกับความสำเร็จที่เฉพาะเจาะจง เปรียบเทียบกับกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมแบบดั้งเดิมที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจครอบครัวและสำนักงานครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งผู้ก่อตั้งและเจ้าของจะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนองค์กรการกุศลหลายแห่ง

ขณะที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่กำลังท้าทายกับการหาวิธีให้คนรุ่นเก่ายอมรับในรูปแบบที่มีการใส่ผลกระทบทางสังคมเข้าไปในโครงการด้วย ทั้งนี้อาจมีหลายสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ในธุรกิจครอบครัวพยายามโน้มน้าวผู้ก่อตั้งที่มีอำนาจเกี่ยวกับแนวทางใหม่ในการรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากลูกๆ ไม่มีอำนาจแต่ต้องการสนับสนุนให้เกิดผลกระทบทางสังคม

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6  พฤษภาคม  2563