‘ไฮเนคกี้’ ถอดรหัส  ไมเนอร์ กรุ๊ป ฝ่าวิกฤติโควิด-19

05 พ.ค. 2563 | 07:55 น.

ไฮเนคกี้  ชี้โควิด-19 ฉุดธุรกิจปีนี้ย่ำแย่สุด ต้องประคองตัวรอสถานการณ์ฟื้น เผยแม้โรงแรมจะกระทบหนัก แต่ยังได้รายได้จากธุรกิจอาหารเข้ามาช่วย เตรียมทยอยกลับมาเปิดให้บริการห้องพักอีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉุดภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในปีนี้สาหัส กว่าวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมา  ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “วิลเลี่ยม ไฮเนคกี้”  บอสใหญ่แห่งไมเนอร์ กรุ๊ป มองว่าระยะสั้นโดยเฉพาะในปีนี้ คงไม่อาจหวังว่าธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวสู่ภาระปกติอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อว่าในระยะยาวทุกอย่างจะดีขึ้น เหมือนทุกวิกฤติที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ต้องประคองให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากนี้ไปก่อน เพื่อก้าวต่ออย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

นายวิลเลี่ยม ไฮเนคกี้  ประธานกรรมการบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวถึง การฝ่าวิกฤติของไมเนอร์ กรุ๊ป ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบมากสุด รองลงมา คือ ธุรกิจร้านอาหาร และค้าปลีก โดยขณะนี้ โรงแรมทั้งหมดปิดบริการชั่วคราว ขณะที่เชนร้านอาหารก็ปิดแบบนั่งทานในร้าน แต่ยังเปิดให้บริการสั่งกลับไปทานบ้าน และบริการจัดส่งนอกสถานที่ (ดีลิเวอรี)

ในส่วนของโรงแรมนั้น มีความคาดหวังว่าจะทยอยเปิดได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะมุ่งกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในประเทศก่อน โดยโรงแรมของเครือไมเนอร์ในภูเก็ตอาจจะเปิด 1 แห่งก่อน และหากมีลูกค้าเพิ่มขึ้นก็จะเปิดเพิ่ม แต่คงไม่อาจหวังผลได้มากนักในระยะสั้น กล่าวคือไม่อาจหวังว่าธุรกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว 

แต่ถึงอย่างไรในระยะยาว ทางกลุ่มไมเนอร์ ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะเคยผ่านภาวะวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมามากมายหลายครั้งแล้ว เช่น วิกฤติหลังเกิดสึนามิ, วิกฤติต้มยำกุ้ง, วิกฤติการเงินโลก เป็นต้น “ผมมีความหวังเสมอ เชื่อว่าอย่างไรเราก็จะผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ได้ด้วยดี”

‘ไฮเนคกี้’ ถอดรหัส  ไมเนอร์ กรุ๊ป ฝ่าวิกฤติโควิด-19

 

การหยุดหรือปิดกิจการชั่วคราวนั้นง่าย แต่จะประคองให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากอย่างไรเพื่อที่จะก้าวต่ออย่างแข็งแกร่งอีกครั้งเป็นเรื่องยากกว่า ไมเนอร์โชคดีที่ทีมงานและสตาฟฟ์ทุกคนพร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกัน และรู้ว่าถึงตอนนี้เราจะปิดเป็นบางส่วน แต่เราจะกลับมาแน่ๆ บางคนก็ยอมให้ลดเงินเดือน บางคนยอมลาพักงานโดยไม่รับเงินเดือน

 

“เราพยายามรักษาคนดีมีฝีมือเอาไว้ ความสำเร็จของไมเนอร์ฯ คือ องค์กรของเราเป็นแหล่งรวมคนมีความสามารถ เรามีคนยอดเยี่ยมฝีมือดี ในสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องรักษาพวกเขาเอาไว้ เราต้องให้เขามั่นใจว่า พวกเขาจะยังมีงานทำอยู่ แต่เราก็พร้อมปรับตัวรับสถานการณ์เสมอว่า หากเปิดโรงแรมหรือเปิดร้านอาหารอีกครั้ง เชื่อว่าแรกๆ คนจะเที่ยวน้อยลง กินน้อยลง เราพร้อมรับสถานการณ์เช่นนั้น” 

 

อะไรคือ New Normal ที่จะขึ้น เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่จะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่น การสวมใส่หน้ากากเดินในที่สาธารณะ การระมัดระวังต่าง ๆ รัฐบาลในบางประเทศกำหนดมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การจำกัดจำนวนผู้คนในร้านค้าปลีก

 

“แต่ผมว่าในเมืองไทยจะไม่ถึงขนาดนั้น ทุกอย่างจะปรับหาสมดุลของมันเอง หลังเหตุการณ์แบบนี้ ร้านอาหารที่คนแน่นเกินไป เราก็คงไม่อยากเดินเข้าไป เราจะมีประสบการณ์จากเหตุการณ์นี้ แล้วผู้คนก็จะปรับตัว ปรับพฤติกรรมของตัวเองใหม่ ผู้บริโภคฉลาด เขารู้ว่าจะทำตัวอย่างไรในสถานการณ์ปกติใหม่นี้ เราคงไม่อยากให้ภาครัฐมีกฎระเบียบบีบบังคับมากจนเกินไป”

 ถามว่าในแง่รายได้ ไมเนอร์จะกระทบอย่างไรบ้าง “บริษัทเราจะประกาศผลประกอบการในเดือนหน้า จากจุดนั้นเราคงเห็นอะไรๆชัดขึ้น แต่กล่าวได้ว่า นี่คือเป็นปีที่แย่ที่สุด แต่ผมก็หวังว่ามันจะดีขึ้นในปีหน้า เราคาดหวังแขกเข้าพักในโรงแรมมากขึ้น คนเข้ามาในร้านอาหารมากขึ้น”         

ตอนนี้ ธุรกิจของไมเนอร์รายได้ 60% มาจากธุรกิจโรงแรม นอกนั้น 35% มาจากธุรกิจอาหาร และ 5% เป็นธุรกิจค้าปลีกราว  กล่าวได้ว่าท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ทำเงินเข้ามากที่สุด (ราว 50 ล้านบาทต่อวันเป็นรายได้จากธุรกิจอาหาร)

เนื่องจากมีจำนวนร้านสาขามาก และยังสามารถทำรายได้จากบริการจัดส่งนอกร้าน (ดีลิเวอรี) ซึ่งทำเงินมากที่สุดในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจด้านท่องเที่ยวและการโรงแรมฟื้นกลับมา ก็คาดหวังว่า โรงแรมที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะฟื้นรายได้เข้ามาให้บริษัทมากขึ้น

 นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสหลัง ๆ ของปีที่ผ่านมา ไมเนอร์มีการซื้อกิจการโรงแรมอื่น ๆ เข้ามามากรวมทั้งในต่างประเทศ เนื่องจากอยากกระจายความเสี่ยง อยากขยายธุรกิจออกไป ไม่ได้คิดว่าจะมีโรคระบาดขึ้นมา ทำให้ไมเนอร์เป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งทั่วโลก ผิดกับหลายเชนที่เป็นเพียงผู้บริหารโรงแรม ไม่ได้เป็นเจ้าของเอง ไมเนอร์มีโรงแรมของตัวเองมาก ก็ทำให้เป็นภาระมากเช่นกันในตอนนี้ ที่จะต้องประคองคน ประคองพนักงานและธุรกิจให้ผ่านพ้นความยากลำบากไปให้ได้

กลยุทธ์อื่นๆที่ จะทำหลังเปิดโรงแรมอีกครั้ง เชื่อว่าหลายแห่งจะลดราคาลง แต่ผู้ประกอบการรู้ดีว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่เท่าไหร่และจะถอยได้เท่าไหร่ แรกๆก็คงต้องลดราคากันไป และสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือทำให้ลูกค้าที่เข้าพักรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการกลับมาใช้บริการ

สำหรับธุรกิจอาหาร ออนไลน์เป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนมากขึ้น แต่มันก็เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง แน่นอนมันจะสำคัญ และเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการแข่งขัน แต่เราก็จะปรับตามสถานการณ์เช่นกัน เราก็จะมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ยกตัวอย่างร้านพิซซ่า คอมปานี และบอนชอน รวมทั้งไอศกรีมสเวนเซ่นส์ ถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ในส่วนนี้คิดว่าคงจะมีการเปิดร้านสาขาใหม่ ๆ ต่อไป เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องมากินเอาประสบการณ์ที่ร้าน แต่ก็แน่นอนว่า จะมีบริการดีลิเวอรีควบคู่ไปด้วย รวมถึงการร่วมมือกับบริษัทรับคำสั่งและจัดส่งอาหาร

 สิ่งสำคัญสุดในเวลานี้คือการกลับคืนสู่นิวนอร์มัล เมื่อเปิดแล้วเราอาจจะมีช่วงปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูบ้าง และนี่ก็คงจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะมีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

 “เราคงรอให้มีการพัฒนาวัคซีนออกมาไม่ได้ ไม่งั้นเราคงตายด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนที่จะตายด้วยไวรัส เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อประคองธุรกิจต่อไป”

สำหรับสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล ก็ขอให้ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ต้องปกป้องคนสูงวัยและคนอ่อนแอให้มากๆ เหมือนที่ในสวีเดนทำ และเปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้(คลายมาตรการล็อกดาวน์) แต่ให้เปิดด้วยความระมัดระวัง

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม  2563