กรมเจรจาฯ รอลุยต่อ ดันไทยร่วม CPTPP ชี้ได้มากกว่าเสีย

04 พ.ค. 2563 | 06:45 น.

ยังเป็นข้อสงสัยและถกเถียงกันว่าประเทศไทยสมควรที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือไม่ หลังจากวันที่ 27 เมษายน 2563โค้งสุดท้ายก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 28 เมษายน นายจุรินทร์  ลักษวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ขอถอนเรื่องนี้ออกจากวาระการประชุมครม. ระบุสถานการณ์ไม่เอื้อ หลังถูกคัดค้านจากหลายภาคส่วนและไทยยังมีปัญหาโควิด-19 โดยนายจุรินทร์ระบุจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกตราบใดที่ภาคส่วนต่าง ๆ ยังมีความเห็นไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

 

-เบรกจนกว่าครม.จะเห็นชอบ

นางอรมน  ทรัพย์ ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้ทำงานหนักเรื่อง CPTPP ก่อนนำเสนอครม.เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การถอนวาระเรื่อง CPTPP ไม่นำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP ของนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เวลานี้การดำเนินการในเรื่อง CPTPP ของไทยต้องหยุดเอาไว้ก่อนทั้งหมด อย่างไรก็ดีหากในอนาคตได้มีหารือและทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และสามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ และหากครม.ให้การอนุมัติก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอน เช่น ไทยต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯเพื่อแสดงความจำนงขอเจรจาพูดคุยกับสมาชิก CPTPP อย่างเป็นทางการ

 

จากนั้นจะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต

 

-ที่มาการผลักดัน

สำหรับ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม  รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีประเด็นการค้า 30 ข้อบท ที่ต้องเจรจา  

 

“ไทยสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถขยายการลงทุนได้โดยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ(ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม)มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน หรือ 6.7%ของประชากรโลก และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 13% ของ GDP โลก  โดยปี 2562 ไทยมีการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP มีมูลค่า 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 31.5% ของการค้ารวมของไทย” 

 

-ผลได้เสียหากร่วม-ไม่ร่วม

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งคณะทำงานเตรียมพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งจากผลการศึกษา ชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัว 0.12%  คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท และการลงทุนจะขยายตัว 5.14%  คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท  รวมไปถึงจะช่วยให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวจากการเปิดตลาดเพิ่มเติมกับสมาชิก CPTPP ที่ไทยมี FTA ด้วย และกับประเทศที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วยในกลุ่มนี้ คือ แคนาดา และเม็กซิโก  รวมถึงเป็นการเปิดตลาดสินค้าไทยในกลุ่มอาทิ เนื้อไก่สด/แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และผลไม้สด/แห้ง

กรมเจรจาฯ รอลุยต่อ  ดันไทยร่วม CPTPP  ชี้ได้มากกว่าเสีย

 

ส่วนผลเสียหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ผลการศึกษาชี้ว่า GDP ไทยจะลดลง 0.25% หรือเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนจะลดลง 0.49% หรือเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท และการส่งออกไทยจะลดลง 0.19% หรือ 14,560 ล้านบาท  กระทบไปถึงการจ้างงานและผลตอบแทนที่แรงงานจะได้รับลดลง 8,440 ล้านบาท

 

“การเข้าร่วมความตกลงย่อมมีได้-เสีย แต่หากมองในแง่ดีจะเห็นว่าเป็นการยกระดับกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งจากต่างชาติและไทยเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาสถานะของไทยในห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว แต่หากไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสในการขยายการค้าและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภูมิภาคในระยะยาวให้กับประเทศคู่ค้าได้”

 

-เคลียร์ข้อกังวลชัด

สำหรับข้อกังวลต่าง ๆ ที่หลายภาคส่วนทั้ง เอ็นจีโอ ภาคเอกชนที่ออกมาแสดงความกังวลหากไทยเข้าร่วมความตกลงไม่ว่าจะเป็นการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ  การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรจะซื้อเม็ดพันธุ์แพงขึ้นนั้น ยืนยันว่า เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมถึงสมุนไพรและพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม  แต่สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองมีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้ และยังสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ ตามข้อตกลงของ UPOV 1991 Article 15

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563