อียูจี้จีนรับผิดชอบ สาวต้นตอ “โควิด-19”

02 พ.ค. 2563 | 04:06 น.

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จะออกมายืนยันว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้มีการศึกษามานั้น สามารถระบุได้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ และไม่ได้สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการตามที่มีข่าวลือและมีการกล่าวหาจีนแต่อย่างใด แต่ความสงสัยก็ยังคงมีอยู่ และต้องการความกระจ่างอย่างเร็วที่สุด

 

WHO ระบุว่า นักวิจัยหลายคนได้ตรวจสอบจีโนมของไวรัสโควิด-19 แล้วพบว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวสร้างขึ้นในห้องแล็บ ซึ่งหากไวรัสดังกล่าวเกิดจากฝีมือมนุษย์จริง ลำดับจีโนมจะต้องมีองค์ประกอบที่มนุษย์รู้จัก แต่ไม่ใช่กับกรณีนี้

ประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อมั่นว่าไวรัสโควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องทดลองในจีน

แม้ WHO จะออกมายืนยันเองขนาดนั้น แต่ก็ยังไม่สามารถดับกระแสความต้องการควานหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของไวรัสร้ายดังกล่าว ว่าจริง ๆ แล้ว มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จีนจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเขาเองมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “โควิด-19” นั้น เกิดมาจากห้องทดลองโรคติดเชื้อของสถาบันระบาดวิทยาในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหู่เป่ย ทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองต้นตอที่ตรวจพบไวรัสดังกล่าวเป็นครั้งแรกปลายปี 2562 ที่ผ่านมา

 

ไม่เพียงประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น นักกฎหมายในหลายประเทศรวมทั้งเยอรมนี อังกฤษ และออสเตรเลีย ได้พยายามหาช่องทางฟ้องร้องเพื่อให้รัฐบาลจีนในฐานะประเทศต้นตอการแพร่เชื้อ จ่ายเงินชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จนถึงวันนี้ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วมากกว่า 2.3 แสนคน และมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 3.2 ล้านคน

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเย็น ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

อียูป้อง ไม่ได้กล่าวหาแต่ขอความร่วมมือ

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเย็น ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอื่น ๆ ในการสืบสาวหาสาเหตุที่แท้จริงว่า ไวรัสโควิด-19 นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

“มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราทุกคน สำคัญต่อคนทั้งโลก คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า ไวรัสตัวใหม่จะเริ่มขึ้นอีกเมื่อไหร่ในครั้งต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการเพื่อเหตุการณ์ครั้งต่อไป คือการได้เรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้ มีการจัดตั้งระบบเตือนภัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และการที่จะทำอย่างนั้นได้ ทั้งโลกจะต้องมีส่วนร่วมและช่วยกันในตอนนี้”  

 

อัวร์ซูลาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส “บทเรียนหนึ่งที่เราได้จากวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้คือเราจำเป็นต้องมีข้อมูลที่สำคัญ มีข้อมูลที่รวมศูนย์มากขึ้นและมีการวิเคราะห์ออกมาเพื่อจะได้มีกลไกแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็วและดีขึ้นตั้งแต่ต้น ๆ” นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า สิ่งที่อียูต้องการอย่างมากในการรับมือกับวิกฤติเช่นนี้คือ ระบบข้อมูลที่สามารถเชื่อถือได้   

 

ในส่วนของจีนนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ต้นว่าอาจมีความพยายามปกปิดข้อมูล มีการเอาผิดแพทย์และบุคคลที่พยายามแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ในช่วงแรก ๆ ที่มีการระบาดออกมาจากตลาดสดค้าสัตว์ป่าและสัตว์พื้นเมืองเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 จากนั้นปลายเดือนมกราคม 2563 หน่วยงานรัฐบาลจีนเพิ่งจะประกาศห้ามการค้าสัตว์ป่าในทุกช่องทางจำหน่ายเป็นการชั่วคราว ขณะที่หน่วยงานนานาชาติเห็นว่า จีนควรจะห้ามการค้าสัตว์ป่าเป็นการถาวรไปเลย  แม้จีนจะพยายามส่งทีมแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ และความช่วยเหลือ ไปยังหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีหลายชาติตั้งข้อกังขาว่า จีนขยับตัวช้าเกินไปหรือไม่ในการแจ้งเตือนประเทศอื่น  

โลกต้องเรียนรู้ เพื่อรับมือดีขึ้นในครั้งต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายเล่อ ยู่เฉิง รองนายกรัฐมนตรีจีนได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ชี้แจ้งข้อกล่าวหาว่า จีนเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและมีความรับผิดชอบมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการปกปิดหรือพยายามดึงเวลา สร้างความล่าช้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยถึงลำดับเหตุการณ์สำคัญ (ไทม์ไลน์) เกี่ยวกับการรับมือและการแจ้งข้อมูลของจีน นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศมาตราใดที่สนับสนุนให้มีการตราหน้าหรือกล่าวหาประเทศที่แจ้งรายงานการเกิดโรคระบาดเป็นประเทศแรก “ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ย้ำว่า เขามีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่าไวรัสโควิด-19 เกิดจากห้องทดลองในประเทศจีน แต่เขาพูดอะไรมากในเรื่องนี้ไม่ได้

 

ขณะเดียวกัน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปตอบคำถามสื่อเมื่อถูกถามว่า การกดดันจีนให้ร่วมมือในการตรวจสอบหาที่มาของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอียูร้าวฉานหรือไม่ นางอัวร์ซูลาตอบว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะอียูก็ต้องดูแลประโยชน์ของตนเอง โรคระบาดที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความสูญเสียอย่างมาก ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ดีกว่าเดิมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศเอง  อียูจำเป็นจะต้องเตรียมตัวให้ดีพร้อมกว่าเดิมเพราะไม่มีทางรู้เลยว่า วิกฤติครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่