ค่า(แกล้ง)โง่ สภาใหม่ 1,590 ล้าน

01 พ.ค. 2563 | 09:58 น.

 

 

 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา จู่ ๆ ก็มีข่าวขึ้นมาว่า "ซิโน-ไทย" ฟ้องสภาฯ เรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท ปมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ล่าช้า จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า จะกลายเป็นการ “เสียค่าโง่” หรือไม่


ที่มาของข่าวนี้ก็คือ เมื่อวันที่  17 เมษายน ที่ผ่านมา นายชัชชัย ยอดมาลัย ตุลาการศาลปกครอง ได้ลงนามในหนังสือของสำนักงานศาลปกครองกลาง ถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้คัดสำเนาคำฟ้อง ที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการยื่นฟ้อง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อศาลปกครองกลาง  


ในรายละเอียด เป็นสำเนาพยานหลักฐานประกอบคำฟ้อง มีทั้งสิ้น 70,694 แผ่น รวม 154 แฟ้ม 41 กล่อง โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้อง คัดสำเนาภายใน 60 วัน นับจากวันที่รับคำสั่ง ซึ่งคือ วันที่ 22 เมษายน 2563 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ลงเลขรับคำสั่งจากศาลปกครอง 


ทั้งนี้ หากผู้ถูกฟ้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ ศาลจะถือว่าผู้ถูกฟ้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้อหาของผู้ฟ้องคดี


สำหรับสาระสำคัญที่ บริษัทซิโน-ไทยฯ  ฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาฯ นั้น เป็นกรณีของการส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ “ล่าช้า” เนื่องจากการขนดินออกจากพื้นที่ โดย บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้เรียกร้องค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,590 ล้านบาท 


ขณะที่ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ว่าจ้าง บริษัทซิโน-ไทยฯ ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าว คือ ร่างแก้ไขคำฟ้อง และเตรียมตั้ง “อัยการ” ดำเนินการฟ้องร้องให้สำนักงาน ขั้นตอนอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขคำฟ้อง 


นายสรศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาฯ เมื่อปลายปี 2559 ทาง บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ทำหนังสือยื่นสงวนสิทธิการฟ้อง ซึ่งยืนยันว่าจะฟ้อง ด้วยวัตถุประสงค์และเหตุผล คือ การขุดดิน หาที่ทิ้งดิน และการจำหน่ายดิน รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทั้งส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ และชุมชนโรงงานทอผ้า เป็นต้น ทำให้ต้องผิดนัดการส่งมอบพื้นที่รวม 4 ครั้ง

“เขาฟ้องร้องถูกต้องแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เขาสงวนสิทธิการฟ้องมา ไม่ใช่จู่ๆ จะฟ้องกัน ส่วนกรณีที่การต่อสัญญาให้บริษัทผู้รับจ้างที่ผ่านๆ ซึ่งชดเชยเวลาที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นฝ่ายผิดนัดนั้น ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา รวมถึงการขยายสัญญาก่อสร้างที่คำนวณวันที่สภาฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเข้าไปแล้วด้วย” นายสรศักดิ์ ระบุ


นี่ขนาดมีการแก้ไขสัญญาต่อเวลาก่อสร้าง ต่อแล้วต่ออีกถึง 4 ครั้ง ตามข้อเรียกร้องของ “ผู้รับเหมา” ซึ่งครั้งที่ 4 ที่ต่อสัญญากัน จะสิ้นสุดสิ้นปี 2563 นี้ 


แต่ก็ไม่เป็นผลที่จะทำให้ บริษัทซิโน-ไทยฯ เลิกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

 

 

                                                           ค่า(แกล้ง)โง่ สภาใหม่ 1,590 ล้าน

+ย้อนรอยโครงการก่อสร้างสภาใหม่


สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ เคยมีรายงานข้อมูลการก่อสร้างเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ระบุว่า โครงการนี้สำนักงบประมาณเห็นชอบราคาค่าก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ในวงเงินรวม 12,280,000 ล้านบาท ตามผลประกวดราคาที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เสนอ 


สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 2,236,311,400 บาท ที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีจากกระทรวงการคลังแล้ว และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556  อีกจำนวน 804,708,600 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2559 จำนวน 9,238,989,000 บาท 


การดำเนินโครงการก่อสร้างฯ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วน โดยอนุมัติให้ขยายเวลาดำเนินการถึงปีงบประมาณ 2559 เนื่องจากผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างฯ ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม 900 วัน


แต่ปรากฏว่าเมื่อครบ 900 วัน ตามสัญญาหลัก การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ขยายเวลาของสัญญาออกมาแล้วถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วย


ครั้งที่ 1 ขยายเวลาจำนวน 387 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558–15 ธันวาคม 2559 โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า และปัญหาอุปสรรคในการขนดินที่ขุดจากการก่อสร้างเสาเข็มเจาะออกไปเก็บไว้นอกโครงการก่อสร้าง  


ครั้งที่ 2 ขยายเวลาจำนวน 421 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 – 9 กุมภาพันธ์ 2561 เหตุผลของรอบนี้คือ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีความล่าช้าในการขนย้ายดินที่ขุดเพื่อการก่อสร้างชั้นใต้ดิน 


และครั้งที่ 3 ขยายอีกจำนวน 674 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561- 15 ธันวาคม 2562 เหตุผลรอบนี้คือ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 ของกรุงเทพมหานคร ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และบ้านพักข้าราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร 


ขณะเดียวกันมติครม. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ยังอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณงานนอกสัญญาหลักอีกจำนวน 4,812,617,700 บาท ผูกพันงบปี 2562-2563 


นั่นเท่ากับว่า มีการขยายเวลาก่อสร้างแล้ว 3 ครั้ง รวม 1,482 วัน เมื่อนำไปรวมกับระยะก่อสร้างเวลา 900 วัน ตามสัญญาตอนแรก รวมแล้วใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2,382 วัน หรือประมาณ 6 ปีครึ่ง และมีการขยายเวลาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน จากที่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ขอขยายเวลา 502 วัน แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาอีก 382 วัน ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ยาวนานถึงเกือบ 8 ปี  

 

และการขยายสัญญาทั้ง 3 ครั้ง จะพบว่ามีความพยายามอ้างเหตุผลให้เข้าเงื่อนไขในสัญญาที่ “เลี่ยง” การจ่ายค่าปรับของ “ผู้รับจ้าง” คือการปรับจะเกิดขึ้นเมื่อ “อันเนื่องมาจากความผิด หรือ ความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง” ซึ่งต้องแจ้งเหตุผลภายใน 15 วัน 
 

 

                                                ค่า(แกล้ง)โง่ สภาใหม่ 1,590 ล้าน

ส่วนเหตุผลของการขอขยายระยะเวลาสัญญารอบที่ 4 ระบุในรายงาน ในหน้า 24 ว่า “ข้อ 3 ปัญหา อุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหา” 3.1 ระบุว่า แบบรูปและรายละเอียดที่ผู้ออกแบบ (สงบ 1051) ส่งมอบให้สํานักงานสภาฯ นั้น มีจํานวนแบบและรายละเอียดมาก จึงทําให้แบบรูปและรายละเอียดขัดแย้งกัน หรือแบบไม่สมบูรณ์ เช่น งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบปรับอากาศ งานระบบสุขาภิบาล เป็นต้น


จากนั้น ก็เป็นการอธิบายแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น หนึ่งในนั้น คือการเพิ่มจำนวนแรงงานและเวลาในการทำงาน


หากในเดือนถัดไป ผู้รับจ้างคงมีจํานวนแรงงานเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 4,500-4,800 คน ก็สามารถดําเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่จะขยายระยะเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 4 ภายในปี 2563
ต่อมา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประจำเดือนตุลาคม 2562 


ในรายงานระบุระยะเวลาตามสัญญารวม 2,382 วัน ดำเนินการมาแล้วถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2562 จำนวน 2,306 วัน คงเหลือระยะเวลาก่อสร้างอีก 45 วัน ผลงานที่ผู้รับจ้างทำได้ร้อยละ 69.8% หรือเพิ่มขึ้นมา 1.55% ของเดือนที่แล้ว นั่นเท่ากับว่า ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2562 คือวันสุดท้ายของระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา แต่ทว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ 100%


โครงการอาคารรัฐสภาใหม่ กว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลาเกือบ 8 ปี จากเดิมตามสัญญาใช้เวลาแค่ 900 วัน และยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายสัญญาออกไปอีกเป็นรอบที่ 5 ในอนาคตหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ขณะนี้ “สภาผู้แทนราษฎร” ถูก “บริษัทผู้รับเหมา” ฟ้องร้องเรียกค่าเสีย เพราะเหตุ “ส่งมอบที่ดินล่าช้า” 


หลังการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท ปรากฎข่าวคึกโครมออกไป ประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อโซเชียล และตั้งข้อสังเกตที่น่ารับฟังว่า มีใคร “แกล้งโง่” จนนำไปสู่การฟ้องร้อง ที่จะ “เสียค่าโง่” หรือไม่???