บิ๊กเนมดิ้น  เลื่อนเปิดโครงการ  ฉุด Q2 ยอดขาย-กำไรร่วงแรง

03 พ.ค. 2563 | 05:13 น.

บิ๊กเนมปรับแผนอุตลุด รับผลกระทบพิษโควิด-19 เล่นงาน เลื่อนเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 2 คาดยอดขาย กำไร ร่วงแรง นักวิเคราะห์กสิกรไทย ระบุทั้งปีไม่ต่ำกว่า 30-40%

 

ไตรมาส 2  ผู้ประกอบการ ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเมินกันว่า ยอดขายผลกำไรน่าจะลดลงรุนแรงไม่ต่ำกว่า 30% จาก ภาวะตลาดอ่อนตัว ความไม่มั่นใจ สถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจ กับโรคร้าย แม้มีเงินในกระเป๋า รายได้ไม่ลดลง กลุ่มกำลังซื้อเหล่านี้ ต้องการออมเงิน ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อรอดูท่าทีไปจนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

ขณะไตรมาสแรก ผู้ประกอบการยังมีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากยอดโอนของลูกค้าเมื่อปีที่ผ่านมาและยอดขายช่วงต้นปี จากการระบายสต๊อกแคมเปญลดราคาบ้านพร้อมอยู่ ประกอบกับ “โควิด” เริ่มปะทุในประเทศไทย ประมาณเดือนมีนาคม ซึ่งยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อโครงการ

 

สอดคล้องกับ นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียฯ สะท้อนผลกระทบโควิด-19 ว่า เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ที่มีมาตรการควบคุมการเดินทางและกิจกรรมสังคม ทำให้อัตราการขายใหม่ชะลอลงราว 40% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ขณะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับตัวขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สำหรับในไตรมาส 2/2563 จะถูกกระทบเต็มที่ และหลายบริษัทอาจเลื่อนเปิดโครงการออกไปทำให้ยอดขายคาดชะลอตัวลงเป็นระดับต่ำสุดของปี โดยประเมินว่าคอนโดมิเนียมจะได้รับผลกระทบมากกว่าแนวราบซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ หรือ ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

 

ไม่ต่างจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย ที่คาดการณ์ว่า กำไรอสังหาฯปีนี้ น่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 30%

บิ๊กเนมดิ้น  เลื่อนเปิดโครงการ  ฉุด Q2 ยอดขาย-กำไรร่วงแรง

 

โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่มีสต๊อกในมือค่อนข้างมาก แม้จะโปรโมชันออกมาช่วงพยุงในไตรมาส 2 นี้แต่น่าจะเกิดการชะลอการตัดสินใจหากเศรษฐกิจส่อแววซึมยาว

 

ทั้งนี้ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2 ยอดขายลดลงค่อนข้างแรง จากผลกระทบโควิด-19 ส่งผล ผู้ซื้อที่เป็นเรียลดีมานด์ และกลุ่มลงทุนไม่มั่นใจ โดยหายไปจากตลาดประมาณ 50% อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินรายได้ ผลกำไรลดลง เท่าใด ประกอบกับบริษัทมี ธุรกิจโรงแรม และโครงการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน คาดไม่น่าเกิน 20-30%

จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพิ่มความรุนแรงตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาส 2 เป็นต้นไป บริษัทปรับแผนครั้งใหญ่ เลื่อนเปิดโครงการใหม่ออกไป 4-5 โครงการ เหลือเพียง 8 โครงการ จากเดิม 12 โครงการซึ่งเป็นบ้านแนวราบทั้งหมด และพร้อมจัดแคมเปญในเดือนพฤษภาคม นับเป็นครั้งแรก ที่บริษัทให้ส่วนลด และผ่อนให้กับลูกค้ายาวนานถึง 30 เดือน (2 ปี 6 เดือน) เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ จะก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้กลับมา หรือธุรกิจเดินได้ต่อ

 

นอกจากนี้ ยังปรับแผนพัฒนาเน้นขยายเฟสในโครงการเดิม มากกว่าเปิดโครงการใหม่ เพื่อลดงบประมาณ ลงทุนสาธารณูปโภค อีกทั้งจำนวนหน่วยจะเน้นตามที่ลูกค้าต้องการ และผลิตไว้เผื่อขายในระยะ2 เดือน โดยไม่ผลิตมาก เพื่อตุนไว้ขายในระยะยาว 5-6 เดือนข้างหน้าเหมือนเช่นเคยอีกต่อไปเพื่อรักษา กระแสเงินสด (แคชโฟลว์)

 

 “ไตรมาส 2 กำลังซื้อตลาดอ่อนลงมาก ทำให้บริษัทต้องตั้งรับ ปรับแผนใหม่โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้”

  

สอดคล้องกับ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท แวลู บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ยอมรับว่าไตรมาสแรก ผลประกอบการค่อนข้างดี แต่ไตรมาส 2 ทั้งยอดขาย รายได้ ผลกำไร น่าจะปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง และเชื่อว่ากระทบลักษณะเดียวกันทุกค่าย แต่คาดว่าไม่น่าลดลงมากถึง 40-50% เพราะต่าง กิจกรรมตลาดพยุงอยู่ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าไตรมาส 3 สถาน การณ์จะเริ่มดีขึ้น

ด้านนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย ระบุว่าผลกระทบโควิด ส่งผลให้ยอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง อยู่ที่ 5,720 ล้านบาท ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 บริษัทได้ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานในการเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีการเลื่อนเปิดตัวบางโครงการใหม่ออกไป พร้อมกับการออกโปรโมชัน แคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายในโครงการต่างๆ ที่มีสต๊อกอยู่ในมือรวมประมาณ 1.3 -1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้าหมายยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งปี 2563 นั้น อยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งคาดจะมีความชัดเจนหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ เดิมเป้ายอดขายตลอดทั้งปี ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เป้ารายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท

 

ส่วน บมจ.เสนา ปรับแผนดำเนินธุรกิจ หลังคาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยชะลอตัวยาวนาน ประมาณ 2 ปี เบื้องต้นบริษัทจะชะลอการเปิดโครงการใหม่กลุ่มคอนโดมิเนียมตึกสูงขนาดใหญ่ (JV) ทั้งหมด คงไว้แต่คอนโดฯโลว์ไรส์ ราคาต่ำกว่าล้านบาท (BOI) จำนวน 4 โครงการ และเดินหน้าแผนพัฒนาในกลุ่มแนวราบ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ตามปกติอีก 5 โครงการ รวมมูลค่าทั้งสิ้นมากกว่า 6 พันล้านบาท

 

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนยอดขายตลอดทั้งปี 2563 เนื่องจากต้องการลดต้นทุนบางส่วนลง จากเดิมต้นปี ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท และเป้ารายได้ที่ 10.6 หมื่นล้านบาท สำหรับ บมจ.เอพี ต่างปรับตัวชะลอโครงการออกไปเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นแนวราบมากกว่า

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม 2563