อีอีซีรอดแน่ภัยแล้งปี63กรมชลฯการันตี

01 พ.ค. 2563 | 05:21 น.

กรมชลประทาน-ภาคการผลิตโล่ง พ้นแน่แล้งนี้มีน้ำเพียงพอถึงหน้าฝน  กรมชลประทานไม่วางใจเดินหน้าผันน้ำเติมในอ่างใหญ่ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคมนี้

 

 

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่9 เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภัยแล้งจะสิ้นสุดวันที่  30 มิถุนายนนี้ ยืนยันว่าพื้นที่อีอีซี  หรือการใช้น้ำใน 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้งในปีนี้แน่นอน

“นับตั้งแต่วันนี้(1พ.ค.63) ยืนยันได้เต็มปากว่าเราผ่านวิกฤติภัยแล้งปี63แล้ว และในเดือนกรกฎาคมก็ยังสามารถดึงแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำหลักได้อีก  เช่น สูบน้ำมาจากคลองสะพาน เพื่อมาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์  วันละ 2 แสนลบ.ม. และสูบน้ำมาจากแม้น้ำระยองมาเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลวันละ1.5 แสนลบ.ม. โดยทั้ง 2 แหล่งนี้จะมีการเติมน้ำตั้งแต่เดือนพ.ค.- ต.ค.2563  ส่วนที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตจะมาเติมที่อ่างเก็บน้ำบางพระวันละ5แสนลบ.ม.  และที่แม่น้ำบางปะกงจะผันน้ำมาเติมที่อ่างเก็บน้ำบางพระวันละ2 แสนลบ.ม.  ทั้ง2แห่งนี้จะเริ่มผันน้ำมาเติมตั้งแต่เดือนก.ค.-ต.ค.2563”

ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่9 กล่าวอีกว่า ปกติการใช้น้ำดิบในจังหวัดระยองจะใช้เพื่ออุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนที่จังหวัดชลบุรีการใช้น้ำดิบส่วนใหญ่จะป้อนไปยังการประปาส่วนภูมิภาค   โดยที่ระยองจะใช้น้ำต่อวันราว 977,000 ลบ.ม.ต่อวัน ที่ชลบุรีจะใช้น้ำดิบต่อวันราว 405,000ลบ.ม.ต่อวัน

ด้านนายสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่าในแง่ภาคการผลิตที่ต้องใช้น้ำดิบเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นว่าปริมาณน้ำรองรับในปีนี้จะเพียงพอจนสามารถผ่านภัยแล้งนี้ไปได้ บวกกับกว่า 1 สัปดาห์มานี้มีฝนตกในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานที่มีการวางแผนมาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมรับมือปัญหาน้ำร่วมกันทุกสัปดาห์ และทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวลดการใช้น้ำลง  จากปกติระยองและชลบุรี ฉะเชิงเทราต้องใช้น้ำมาจากแหล่งน้ำระยองมากถึง 1.2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ก็ลดลงมาเหลือ 1.1 ล้านลบ.ม.ต่อ วัน  และล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 800,000-900,000 ลบ.ม.  และมีฝนตก มีการทำฝนเทียมฝนหลวงมาช่วยอีก  นอกจากนี้การที่ฝนตกในพื้นที่ยิ่งทำให้เกษตรกรใช้น้ำลดลง

“แล้งนี้เรารอด แต่ก็ยังต้องดูปริมาณฝนด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน และในปีนี้ทุกภาคส่วนก็ควรรับมือเตรียมความพร้อมสู้ภัยแล้งในปี 2564 บางพื้นที่ยังต้องใช้งบในการติดตั้งเครื่องดูดน้ำเพื่อลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีกที เช่นดูดน้ำไปลงในอ่างเก็บน้ำประแสร์  หรือการดูดน้ำจากคลองต่างๆที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นำน้ำมาเก็บในอ่างขนาดใหญ่เพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนไว้สำหรับปีต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ถ้ารัฐปล่อยงบต่อเนื่องจนทันในฤดูฝนนี้ก็จะยิ่งดูดน้ำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักได้เพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้งปีต่อไปได้อีก

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปี2563 ภาคการผลิตต่างมีความกังวลถึงวิกฤติภัยแล้งโดยเฉพาะการใช้น้ำจากภาคเอกชน   โดยภาคเอกชนสมาชิกส.อ.ท.  ยืนยันชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ  และเมื่อไปสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่งคืออ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำดอกกรายพบว่าปริมาณน้ำลดลงไปมาก และคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้น้ำได้ถึงเดือนเมษายน 2563 และมองว่าถ้าไม่มีฝนลงมาถือว่ามีความเสี่ยงสูง  หากฝนไม่ตก หรือตกช้า และการผันน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผันไม่ทัน เชื่อว่าจะกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม  จนล่าสุดมาถึงวันนี้ความกังวลเริ่มคลี่คลายลงแล้ว