อีซีบีตรึงดอกเบี้ย-จ่ออัดฉีดเพิ่ม สู้ศก.ติดลบ

01 พ.ค. 2563 | 01:30 น.

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ย และพร้อมที่อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”

 

นางคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบีเปิดเผยในการแถลงข่าววานนี้ (30 เม.ย.) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ว่า ประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั้งในขนาดและความเร็วที่มากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกช่วงที่ไม่มีภาวะสงคราม อีซีบีคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของกลุ่ม (จีดีพี) จะหดตัวในอัตราระหว่าง 5-12% ในปี 2563 นี้ ด้วยเหตุนี้ ล่าสุดอีซีบีจึงตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้คงเดิม และพร้อมที่จะอัดฉีดเพิ่มสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่ธนาคารพาณิชย์และระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มวงเงินมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ถ้าหากมีความจำเป็น   

คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี

ในวันเดียวกันนั้น ยังมีรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนที่ประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศ พบว่าเศรษฐกิจมีการหดตัวลงแล้วในอัตรา 3.8% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นับเป็นตัวเลขจีดีพีที่ตกต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการบันทึกมาในปี 2538 และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 3.5% ทั้งนี้สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ ที่ประชุมอีซีบีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบีที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

 

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา อีซีบีได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่มูลค่า 750,000 ล้านยูโร หรือราว 813,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 26.5 ล้านล้านบาท) ภายใต้ชื่อโครงการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Programme) ซึ่งอีซีบีมุ่งเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก โดยประธานอีซีบีระบุวานนี้ว่า การซื้อพันธบัตรนี้จะปรับยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของสถานการณ์ แต่ก็มีความพร้อมเต็มที่หากจะต้องเพิ่มขนาดวงเงินของ PEPP ซึ่งก็จะเป็นไปตามความจำเป็นและไม่มีกำหนดเวลา     

 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสนอมาตรการจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์เข้ากู้เงินจากอีซีบีเพื่อนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 อีซีบีได้เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลงสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจต่ำลงได้ถึง -1% ระหว่างเดือนมิถุนายนปีนี้ถึงมิถุนายนปีหน้า (2564)