จ่อเลื่อนแบน 2 สารพิษ พุ่งเป้าไร้สารทดแทน

30 เม.ย. 2563 | 02:05 น.

วงการฟันธง 30 เม.ย. คณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติเลื่อนแบน 2 สาร “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” ออกไปแน่ เหตุยังไร้สารทดแทน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กมธ.สารเคมี” เตือนสติให้ยึดมั่นตามมติเดิมอย่าอ้างโควิดยื้อแบน

มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ( 27 พ.ย.62) กำหนดให้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสารทดแทน และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 4 เดือน

ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะมีการประชุมในวันที่ 30 เมษายนนี้เพื่อพิจารณาเลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนั้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ต้องไปพิจารณาโจทย์ที่ยังค้างอยู่เรื่องสารทดแทนว่ามีความคืบหน้าหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องขยายระยะการแบนออกไปก็สมเหตุสมผลและถูกต้องแล้ว

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และในฐานะหัวหน้าโครงการวิธีการจัดการวัชพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปริมาณการใช้สารไกลโฟเซตและพาราควอตในพืชเศรษฐกิจ กล่าวว่า งานวิจัย (เริ่ม 28 มี.ค.62-28 มี.ค.64) ขณะนี้ยังไม่เสร็จ กำลังทำเรื่องขยายระยะเวลาต่อเป็นปีที่ 2 เพื่อให้การกำจัดวัชพืชได้มีประสิทธิภาพและต้นทุนใกล้เคียงกับสารที่จะแบน ส่วน 16 สารก่อนหน้านี้ที่กรมวิชาการเกษตรจะใช้เป็นสารทดแทนวงการทราบดีว่าทดแทนไม่ได้ จึงไม่ได้เป็นประเด็นในการเข้าสู่พิจารณาในคณะกรรมการคราวที่แล้ว

นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า จากที่ไม่แบน แต่มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต จนถึงเวลานี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่เปิดโควตาให้นำเข้าไกลโฟเซต มีแต่หนังสือตอบกลับมาว่ารอคำสั่งจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้สถานะในขณะนี้ไม่แบนก็เหมือนโดนแบน เพราะของใหม่เข้ามาไม่ได้ ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอีก 2 สารถ้าเลื่อนแบนได้ก็ดี แต่ถ้าเลื่อนแล้วไม่เปิดโควตานำเข้าไม่ช้าจุดจบก็คงตามรอยไกลโฟเซต อย่างไรก็ดีห่วงจะมีสินค้านำเข้ามาขายในตลาดมืดจะอันตรายยิ่งกว่า

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตั้งคำถามว่า ถ้าแบน 2 สารจริง วัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศที่ใช้สารดังกล่าวอยู่ยังเข้ามาในไทยได้หรือไม่ ถ้าได้แล้ววัตถุดิบของเกษตรกรไทยในชนิดเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้สารดังกล่าว แล้วส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เกษตรกรไทยจะไปสู้ได้อย่างไร เป็นการไปซ้ำเติมเกษตรกรในช่วงวิกฤติโควิดหรือไม่

 

ขณะที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า หน่วยงานรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมว่าก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะต้องออกประกาศก่อน 30 วันที่จะบังคับใช้ เพราะเอกชนจะต้องทราบล่วงหน้าแล้วจะต้องรายงานปริมาณสารที่อยู่ในความครอบครอง และอยู่ในมือเกษตรกรเท่าไหร่ แต่อยู่ๆ ทางสภาหอ
การค้าฯ ก็ทำหนังสือขอเลื่อนโผล่ขึ้นมา มองว่าในสถานการณ์โควิดไม่ควรนำเรื่องที่เป็นความปลอดภัยของพี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภคมากลบผลประโยชน์ทางการค้า

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าก่อนหน้านี้สภาผู้แทนฯได้มีมติเป็นเอกฉันท์
(21 พ.ย.62) แบน 3 สารเคมี เสนอให้รัฐบาลไปเร่งดำเนินการและได้ทวงถามไปแล้ว ผ่านมา 5 เดือนกว่าทำไมไม่ดำเนินการตามมติ มีเหตุผลอย่างไร ซึ่งคงต้องติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด เนื่องจากมีงานวิจัยรองรับจะทำให้คนไทยตายผ่อนส่งด้วยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563