เงินเยียวยาพิษโควิด-19 ต้องเร่งถึงมือประชาชน

30 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3,570 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. – 2 พ.ค.63

          ทั่วโลกต่างชื่นชมไทยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างได้ผล ทั้งลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงจนเป็นหลักหน่วยในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และสามารถรักษาผู้ป่วยจนหายได้ในอัตราสูง

          อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้ต้องแลกด้วยการชะลอตัว หรือกระทั่งหยุดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมาตรการควบคุมเข้มข้น ที่ส่งผลกระทบทั้งสถานประกอบการ ลูกจ้าง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้กันถ้วนหน้า

          รัฐออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 2 ชุด ชุดแรกเป็นมาตรการเยียวยาสถานประกอบการ โดยการจัดหาเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้เพื่อฟื้นกิจการ ชุดที่ 2 เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มใหญ่สุดคือผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยเปิดให้ลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกันขอรับสิทธิชดเชย 5,000 บาท 3 เดือน ส่วนลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้รับสิทธิผ่านระบบประกันสังคม

 

          การจ่ายเงินเยียวยาใหญ่สุดคือ โครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งถึงวันปิดลงทะเบียนวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ขอรับเยียวยาทั้งสิ้น 28,849,725 คน ในจำนวนนี้มีผู้ถูกตัดสิทธิกว่า 10.6 ล้านคน เนื่องจากเป็นเกษตรกร ซึ่งมีชุดโครงการเยียวยาแยกต่างหาก

          กระทรวงการคลัง รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ 8 เมษายน- 29 เมษายน 2563 นี้ มีผู้ได้รับเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” แล้วรวม 7.5 ล้านราย คิดเป็นเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้จะได้รับการเยียวยาที่ครม.อนุมัติแล้ว 14 ล้านคน

          ขณะที่กลุ่มลูกจ้างพนักงานธุรกิจเอกชน เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ต้องหยุดงานขาดรายได้จากเหตุสุดวิสัย ได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ในอัตรา 62% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน คิดฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท จำนวน 1.2 ล้านคน จากที่คาดกรณีเลวร้ายสุดจะมีคนตกงาน 4 ล้านคน กลุ่มแรกอนุมัติจ่ายไปแล้วเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือเร่งตรวจสอบความถูกต้อง และจะอนุมัติจ่ายสิ้นเดือนนี้ จากนั้นจะตัดจ่ายทุกรอบวันที่ 15 และ 30 ของเดือน

          ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต่างๆ ออกสำรวจผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อจัดของใช้จำเป็นและเงินช่วยเหลือ 2 พันบาท

          รวมทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด (28 เมษายน 2563) อนุมัติการเยียวยาโควิด-29 และภัยแล้ง เป็นชุดที่ 3 ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ครัวเรือนละ 15,000 บาท โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่เคยแจ้งไว้เดิม ควบคู่กับฐานข้อมูลลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมอีก 9 ล้านครัวเรือน

          การเยียวยาของรัฐต้องครอบคลุม ทั่วถึง และต้องทันกาลกับความเดือดร้อนของประชาชน