เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.

29 เม.ย. 2563 | 11:25 น.

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในการบริหารพรรคเท่านั้น แต่เป็นการรุกคืบเพื่อปรับครม.ครั้งใหญ่

 

การเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้อนรุ่มยิ่งกว่าเชื้อโควิด-19 ระบาด เมื่ออยู่ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมืองภายในพรรค พปชร. เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนตัวกรรมการบริหาร(ก.ก.บห.)พรรค ด้วยการผลักดัน บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แทน นายอุตตม สาวนายน พร้อมกับจะมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค จาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

 การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในการบริหารพรรคเท่านั้น แต่เป็นการรุกคืบเพื่อปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งใหญ่ ราวเดือนมิถุนายน โดยแกนนำที่เคลื่อนไหว มาจากหลายสายและวางตัวพร้อมนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี หากปฎิบัติการยึดพรรคสำเร็จ  อาทิ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ จะเป็นเลขาธิการพรรค และเป็นรมว.คลัง  ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากโฆษกรัฐบาล จะเป็นรมช.คลัง   นายณัฐพล ทีปสุวรรณ จากรมวศึกษาธิการ จะเป็น รมว.พลังงาน   นายอนุชา นาคาศัย จะเป็น รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น จะเป็นรมว.การอุดมศึกษาฯ

ปฎิบัติการยึดพรรคเขย่าเก้าอี้ทีมเศรษฐกิจ ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ จะสำเร็จหรือไม่ ไล่เลี่ยงเส้นทางการเมืองของบรรดาแกนนำเหล่านี้ จะมองเห็นแง่มุมที่น่าชวนให้คิดไม่น้อย

                                                    เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                           สันติ พร้อมพัฒน์

 

เส้นทางการเมือง“สันติ”

เริ่มจาก “สันติ พร้อมพัฒน์” ผู้ท้าชิงเก้าอี้แม่บ้าน จาก “สนธิรัตน์” 

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง “สันติ”  เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ประกอบธุรกิจประเภท พัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์  

เขาก้าวสู่เส้นทางการเมือง ในตำแหน่ง ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคความหวังใหม่ จากนั้นย้ายเข้าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ

สันติ ได้เป็นรัฐมนตรีสมใจ เริ่มจากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี รมว.คมนาคม,  รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ เป็นหนึ่งในแนวร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)   

ในแวดวงการเมือง รู้ดีว่า สันติ เป็นคนที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไว้ใจมากคนหนึ่ง  ถึงขั้นให้เครือญาตินายสันติ คือ นายพิชัย พร้อมทวีสิทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน (พร้อมทวีสิทธิ์ เป็นนามสกุลเดิมของ สันติ) เป็นกรรมการรัชดา มิลเลนเนี่ยม ทาวเวอร์ จำกัด ยืมเงินจาก “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาทักษิณ เป็นเงิน 160.25 ล้านบาท  

ขณะที่บทบาทในทางการเมืองของสันติ ดูเหมือนมีหลายเรื่องราวที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ เหตุจากความขัดแย้งกับข้าราชการระดับสูง ตลอดจนปัญหาคดีความต่างๆ บ่อยครั้ง

ย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่ สันติ นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีโยกย้าย นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไปขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ชื่อของ สันติ สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นว่า เขาได้สั่งการให้การเคหะฯ ขายที่ดินติดถนนใหญ่ในโครงการหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง ถนนกรุงเทพกรีฑา เขตสะพานสูง ให้แก่บริษัทในตระกูล “พร้อมพัฒน์” เพื่อสามารถเปิดทางเข้าสู่พื้นที่ด้านในที่มีจำนวนมหาศาล

ต่อมาเขาตกเป็นหนึ่งใน 34 รัฐมนตรี ที่ถูกป.ป.ช.กล่าวหา กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ

7 พ.ค.2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม

กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “สันติ”โบกมือลาพรรคเพื่อไทย  พร้อมจูงมือภรรยา นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เข้าซบพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับกลุ่มสามมิตร พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.คลัง ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ภรรยา นายสันติ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต เขต 3 จ.เพชรบูรณ์ ถูกร้องเรียนว่า ให้ทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง แต่ที่สุด กกต.ยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอ ทั้งพยานไม่ได้เห็นเอง แต่รับฟังมาจากการบอกเล่า

ทั้งหมดเป็นเส้นทางการเมือง ของชายชื่อ สันติ พร้อมพัฒน์ ที่มีข่าวว่า ต้องการขยับจาก รมช.คลัง ผงาดขึ้นนั่งเก้าอี้ รมว.คลัง  

 

                                                                เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                                อนุชา นาคาศัย

 

เส้นทาง“อนุชา นาคาศัย”

“เสี่ยแฮงค์" อนุชา นาคาศัย เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการเป็น ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย ต่อมาในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคการเมือง ในปี 2549 

อนุชา ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองคู่บุญของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ต่อมาสวมบทกุนซือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ขณะนั่งเก้าอี้รมว.คมนาคม จนได้รับความไว้วางใจจากสุริยะ อย่างมาก

ต่อมา “เสี่ยแฮงค์"  ย้ายออกจากพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย และสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

ในช่วงที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 เขาจึงส่งภรรยา นางพรทิวา นาคาศัย (ปัจจุบันหย่ากันแล้ว) ลงเล่นการเมืองแทน โดยนางพรทิวา ได้เป็นเลขาธิการพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย หลังพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบ เธอย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย และได้เป็นเลขาธิการพรรคต และเป็น รมว.พาณิชย์ ใน “รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1”

ในปี 2561 “เสี่ยแฮงค์"  ติดตามสมศักดิ์ ในนามของกลุ่ม “สามมิตร” เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ พร้อมส.ส.ในกลุ่มอีก 32 คน  โดยเขาได้ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

  ช่วงมีการจัดครม. “ประยุทธ์ 2” หลัง “เสี่ยแฮงค์” รู้ตัวว่าหลุดโผ รมช.คลัง ได้ออกมาแถลงข่าวสะท้อนความไม่พอใจในการปรับครม.ด้วยท่าทีขึงขัง ที่พลาดเก้าอี้สำคัญในรัฐบาล


 

                                                              เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                                 วิรัช รัตนเศรษฐ

 

เปิดเส้นทาง“วิรัช”

ความขัดแย้งภายในของพรรค พปชร. อันเนื่องมาจากมีแกนนำจากหลายกลุ่มพยายามชูพี่ใหญ่ “พล.อ.ประวิต” เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะมีเสียงจาก “บิ๊กป้อม” ยืนยันผ่านหน้าสื่อว่า “มันจบแล้วๆ”  พร้อมย้ำไม่มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค

ดูเหมือนคนในพรรคเอง ก็ยอมรับความจริงว่า ภายในพรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในสภาพที่แกนนำซดเกาเหลากันมาตั้งแต่นับหนึ่งของการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการระดมกลุ่มการเมืองจากทั่วสารทิศมาไว้ที่พรรคเดียว 

กระทั่งมีความพยายามจาก 5 แกนนำ เปิดเกมการเมืองในพรรค เพื่อชิงอำนาจจาก อุตตม สาวนายก และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  หัวหน้า และเลขาธิการพรรค

“วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล มีชื่อเป็น 1 ใน 5 แกนนำ ที่กระแสข่าวเอ่ยถึงความพยายามเปลี่ยนอำนาจใหม่ในพรรคด้วย จริงเท็จประการใด ไม่มีใครทราบดีมากกว่าเจ้าตัว

“วิรัช” เริ่มเป็น ส.ส.นครราชสีมา ในปี 2529 พรรคชาติไทย ที่มี “น้าชาติ ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้ก่อตั้ง ในช่วงนั้น “เสี่ยไพบูลย์” บิดาของวิรัช เป็นนายทุนพรรคชาติไทย เขาจึงเป็นส.ส. พรรคชาติไทยต่อเนื่อง 

 หลัง “น้าชาติ ”ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2541 “วิรัช” ย้ายไปอยู่กับพรรคมหาชน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และปี 2554 ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย ได้รับแต่งตั้งเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย

ในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2562  ตระกูล “รัตนเศรษฐ”  ประกอบด้วย วิรัช นางทัศนียา นายอธิรัฐ นายทวิรัฐ บุตรชายคนโตและบุตรชายคนที่ 2  ยกครัวเข้าซบพรรคพลังประชารัฐ และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด

ทำให้วิรัช ได้เป็นประธานวิปรัฐบาล ขณะที่บุตรชาย  “อธิรัฐ” ได้นั่งเก้าอี้ รมช.คมนาคม ในครม.“ประยุทธ์ 2”

นอกจากนั้นเขาตั้งกลุ่ม “พลังโคราช” ร่วมกับ 6 อดีต ส.ส.  จำลอง ครุฑขุนทด, “แรมโบ้อีสาน” สุภรณ์ อัตถาวงศ์, บุญจง วงศ์ไตรรัตน์, อัสนี เชิดชัย, ภิรมย์ พลวิเศษ และ พ.ต.ท. สมชาย เพศประเสริฐ                 

วันที่ 6 ส.ค.62 วิรัช พร้อมด้วย ทัศนียา ภรรยา, ทัศนาพร เกษเมธีการุณ (น้องสาวทัศนียา) ส.ส.นครราชสีมา เขต 8 พรรคพลังประชารัฐ และพวกรวม 24 ราย ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างสนามฟุตซอล ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพฐ.) ในจังหวัดนครราชสีมา ขณะที่วิรัช ได้ยื่นหนังสือทักท้วงป.ป.ช.เช่นกัน

                                                               เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                              ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ                          

    

พลิกปูม“ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ”

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นอีกคนที่ปรากฏรายชื่อ อยู่ในกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.คนใหม่ เพราะมีชื่อติดโผว่าอยากโยกจาก รมว.ศึกษาธิการ มานั่งในตำแหน่ง “รมว.พลังงาน” ที่ปัจจุบัน มี สนธิรัตน์ เลขาธิการ พปชร. นั่งอยู่

 ณัฏฐพล อาจถือได้ว่าเป็นกระเป๋าเงินคนหนึ่งให้กับ พปชร. ดูได้จากการถูกวางตัวให้ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ ที่ 1 ของพรรค ซึ่งหากไม่เจ๋งจริง คงไม่มีทางได้ลงลำดับที่ 1  

 ณัฏฐพล มีชื่อเล่น “ตั้น” อายุ 54 ปี เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ นายวีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง, บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต, บมจ.ศรีอยุธยาประกันภัย และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ภรรยาคือ ทยา บุตรสาวของ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตรมช.อุตสาหกรรม

ณัฏฐพล เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารกิจการกระเบื้องคัมพานา พรมไทปิง และพรม Royal Thai เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และ กรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรม แบรนด์ "Royal Thai" ในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง โดยประสานกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศจากดูไบ คือ เดป้า อินทีเรีย ในเครือเดป้ายูไนเต็ดกรุ๊ป บริษัทออกแบบตกแต่งภายในรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และติดอันดับ Top 5 ของโลก

ณัฎฐพล เข้าสู่วงการเมือง โดยลงสมัครรับ ส.ส.ครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 4 ไม่ได้รับเลือกตั้ง

และภายหลังการเลือกตั้ง ณัฏฐพล ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 11 มกราคม 2552 ณัฏฐพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม.เขต 10 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง บางขุนเทียน บางบอน) ได้รับคะแนนมากกว่า จารุวงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ประมาณ 2 หมื่นคะแนน

ในปี 2553 ณัฎฐพล เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ก. และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ส.ก. 45 เขต จาก 61 เขตเลือกตั้ง และชนะการเลือกตั้ง ส.ข. 210 คน จากที่มีการจัดการเลือกตั้ง 256 คน ใน 36 เขต

ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ณัฏฐพล ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 26 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ) ได้คะแนน 46,910 คะแนน เอาชนะ นพสรัญ วรรณศิริกุล จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนน 45,092 คะแนน

 ณัฏฐพล มีหน้ามีตาเป็นที่คุ้ยเคยกันดีง ในช่วงวิกฤติการเมือง ปี 2556-2557 ที่เขาลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อร่วมเป็นแกนนำ กปปส. ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำเป่านกหวีดขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย

ต่อมา ณัฏฐพล ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค เมื่อ 29 ก.ย.2561

ส่วนฐานะความมั่งคั่งของเขา จากข้อมูลที่เคยแจ้งต่อ ป.ป.ช. ณัฏฐพล และ ทยา ภรรยา มีทรัพย์สินรวมประมาณ 779.77 ล้านบาท มีหนี้สิน 13.36 ล้านบาท

ว่ากันว่า “ณัฏฐพล” มีแรงผลักดันจาก “เจ้าพ่อพลังงานตัวใหญ่” อยู่เบื้องหลัง

 

                                                                         

                                                             เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                                      สุชาติ ชมกลิ่น

                                                               

 

ส่องเส้นทาง“สุชาติ ชมกลิ่น”

เส้นทางการเมือง “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น เริ่มจากสนามการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่อายุ 26 ในเก้าอี้ ส.จ.แสนสุข และได้รับเลือกเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ปี 2551

ต่อมาลงสู้เลือกตั้งการเมืองระดับชาติในปี 2554 ในนามพรรคพลังชล ได้เป็น ส.ส.ชลบุรี “สมัยแรก”  

การเลือกตั้งในปี 2562 “เสี่ยเฮ้ง” ย้ายย้ายเข้าซบพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นส.ส.ชลบุรี และเป็นประธานส.ส.พรรคอีกตำแหน่ง

ในช่วงที่มีการจัดโผครม.ประยุทธ์2 มีชื่อ “เสี่ยเฮ้ง” เป็นแคนดิเดต รมว.กระทรวงแรงงาน แต่พลาดเก้าอี้ ถูกเฉือนไปให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โดย “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย นั่งเจ้ากระทรวง

ล่าสุด “เสี่ยเฮ้ง” โชว์พาว ด้วยการกวาดต้อน ส.ส.เกือบร้อย ไปที่ทำการพรรคแห่งใหม่ ย่านรัชดาฯ จัดโต๊ะจีนหรูหราอลังการ หลังกลุ่ม“สามมิตร”เปิดโรงแรมสุโกศล โชว์เพาเวอร์กันไปก่อนหน้าแค่สัปดาห์เดียว

 

                                                                    เปิดเส้นทางการเมือง คนยุ“บิ๊กป้อม”ยึดพปชร.                                               นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

เปิดเส้นทาง“ดร.นฤมล”

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ โฆษกรัฐบาล เป็นบุคคลหนึ่ง ที่ปรากฎรายชื่อผสมโรงอยู่กลุ่มแกนนำที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค อันเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งรัฐบาล เพราะมีข่าวว่าถูกวางตัวเป็น “รมช.คลัง”

สำหรับเส้นทางการเมือง ของ ศ.ดร.นฤมล เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2562 ได้รับการเสนอชื่อจากพรรค พปชร. เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยเจ้าตัวออกมายอมรับในตอนนั้นว่า “ไม่ได้รู้สึกหนักใจหรือกังวลใดๆ เพราะที่ผ่านมาเคยทำงานออกหน้าสื่อมาก่อน เมื่อต้องมาทำหน้าที่นี้ หลักๆ คือต้องอธิบายความให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายถึงการทำงานรัฐบาลและผลงานรัฐบาล ต้องทำงานควบคุมทุกด้าน รวมถึงงานด้านการเมือง ซึ่งเลี่ยงตอบคำถามไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าตนเองก็เป็นนักการเมือง”

หลังได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาล ศ.ดร.นฤมล ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับโปรไฟล์ของ ศ.ดร.นฤมล ถือว่าไม่ธรรมดา ก่อนหน้านี้นอกจากเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 5 แล้ว ยังเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง สมัยที่ นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง

ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ศ.ดร.นฤมล มีบทบาทสำคัญในการช่วยเสนอแนะและร่างนโยบายให้กับพรรคพลังประชารัฐ สำหรับใช้หาเสียง โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับด้านการเกษตร มารดาประชารัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน)

ศ.ดร.นฤมล เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2516 อายุย่างเข้าสู่ 47 ปี จบการศึกษา สถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อที่ Master of Science (คณิตศาสตร์ประยุกต์) Georgia State University ประเทศสหรัฐอเมริกา,  Master of Business Administration (Applied Economics) University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Doctor of Philosophy (Finance) University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา

เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

ฝันที่อยากก้าวขึ้นนั่ง “เก้าอี้รมต.” จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องติดตาม...