กยศ.เตรียมงบ 34,000 ล้าน รับเปิดเรียน

29 เม.ย. 2563 | 10:52 น.

กยศ.ยันมีเงินเพียงพอ เตรียมงบ 34,000 รับนักศึกาเปิดเทอมปีนี้ รองรับ 590,000 ราย พร้อมปรับเกณฑ์รายครอบครัวจาก 2 แสนบาทต่อปีเป็น 3.6 แสนบาทต่อปี เพื่อให้คนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)เปิดเผยว่า กยศ.ยืนยันว่า แม้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของประชาชนจำนวนมาก แต่กยศ.มีเงินเพียงพอให้ทุกคนได้กู้ยืมเรียนอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว  ไม่ต้องเป็นกังวลว่า จะไม่มีเงินส่งให้ลูกหลานได้เรียน

กยศ.เตรียมงบ 34,000 ล้าน รับเปิดเรียน

ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 กยศ.ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากเดิมรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาท/ปี และยังปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาท/เดือน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท/เดือน ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท/เดือน

“เราได้เตรียมงบประมาณไว้ 34,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่คาดว่า จะกู้ยืมในปีนี้ 590,000 ราย โดยเป็นเงินที่ได้จากการชำระคืนจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยได้เปิดระบบ e-Studentloan เพื่อให้นักเรียน นักศึกษายื่นแบบคำขอกู้ยืมล่วงหน้าแล้ว”

กยศ.เตรียมงบ 34,000 ล้าน รับเปิดเรียน

สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังมองหาโอกาสทางการศึกษาเพื่อต่อยอดสู่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก โดยเฉพาะสาขาวิชาที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมที่เรียนระหว่างปีการศึกษา 2562 - 2566  เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมระดับปริญญาตรี จะได้ส่วนลดเงินต้น 30% และสำหรับผู้กู้ยืมระดับอาชีวศึกษา จะได้ส่วนลดเงินต้น 50% เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพที่ยังขาดแคลนสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์