GITจับมือส.การเงินเสริมสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการรับมือโควิด-19

29 เม.ย. 2563 | 07:10 น.

สถาบันอัญมณีฯ จัดประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ตัวแทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เผยมีเงิน Soft Loan ให้กู้ และยังมีสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงานจากประกันสังคม ส่วนการนำอัญมณีเป็นหลักประกันทางธุรกิจเห็นตรงกันให้ใช้ค้ำกู้เงินได้ เตรียมถกรายละเอียดต่อเรื่องประเมินราคา ขั้นตอนดำเนินงาน

 นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือGIT เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และตัวแทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย และสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า สมาคมธนาคารไทยได้ชี้แจงว่าผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับสามารถขอสินเชื่อ Soft Loan ที่เป็นสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยผู้ประกอบการต้องเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ และมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท มีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 โดยให้แจ้งความประสงค์ต่อธนาคารที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่

GITจับมือส.การเงินเสริมสภาพคล่อง  ให้ผู้ประกอบการรับมือโควิด-19

     ทั้งนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จากกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลลูกจ้างในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว โดยสถานประกอบการที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ 3 ปี ส่วนสถานประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5% ต่อปี คงที่ 3 ปี โดยจะต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาการจ้างงานผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 80% ตลอดอายุโครงการ 3 ปี      

GITจับมือส.การเงินเสริมสภาพคล่อง  ให้ผู้ประกอบการรับมือโควิด-19

   ส่วนการหารือเรื่องการนำสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ และเห็นตรงกันว่าอัญมณี เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยจะมีการประชุมร่วมกันกับสถาบันการเงินและหน่วยงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับต่อไป เพื่อหาแนวทางในการประเมินราคาอย่างเป็นธรรม และขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นการให้ความสนับสนุนด้านการเงินในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก ทำให้การส่งออกลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดหลักสำคัญ อย่างจีน ฮ่องกง ยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกชะงัก และยังมีผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยว ที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศ จีไอทีจึงได้เข้ามาช่วยเหลือและหาทางเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพราะประเมินว่าหากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ จะทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น และการส่งออกก็จะกลับมาฟื้นตัวได้”

GITจับมือส.การเงินเสริมสภาพคล่อง  ให้ผู้ประกอบการรับมือโควิด-19

    ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 2 เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการซึ่งส่วนมากเป็น SMEs อยู่ถึง 11,800 ราย ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Luxury Brand ทั่วโลก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปรับปรุงคุณภาพอัญมณี การออกแบบและผลิตเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูง จากช่างฝีมือแรงงานที่มีประสบการณ์ ซึ่งต้องใช้การสั่งสมประสบการณ์มากกว่า 40-50 ปี ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีความเฉพาะตัว เลียนแบบยาก ที่ต่างชาติไม่สามารถทำได้