“ก.อุตฯ”โต้ศรีสุวรรณหน้ากากผ้าต้นทุนสูงกว่า 2.50 บาท

29 เม.ย. 2563 | 06:10 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมออกโรงแจงหน้ากากผ้ามีต้นทุนมากกว่า 2.50 ชิ้น ยันพร้อมชี้แจงได้ทุกเซนติเมตร พร้อมส่งหน้ากากซ่อมให้หากบ้านใดได้ไม่ครบตามจำนวนคนในทะเบียนบ้าน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2563เวลาประมาณ 10.00 น. เตรียมจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบว่าการใช้จ่ายงบประมาณ 65 ล้านบาท มีประสิทธิผลและคุ้มค่าหรือไม่ หากพบการกระทำที่ส่อไปในทางมิชอบให้กำเนินการเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป

“ก.อุตฯ”โต้ศรีสุวรรณหน้ากากผ้าต้นทุนสูงกว่า 2.50 บาท

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาเปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 63 เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง จำนวน 65 ล้านบาท ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลิตหน้ากากผ้าและแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ  และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอื่น จำนวน 10 ล้านชิ้น เพิ่มเติมจากที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้ผลิตหน้ากากสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนในส่วนภูมิภาค จำนวน 50 ล้านชิ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

แต่ปรากฎว่าหน้ากากผ้าที่แจกจ่ายให้ประชาชนจริงผ่านไปรษณีย์นั้นกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู ทั้งเรื่องจำนวนที่แจกแค่ครอบครัวละ 1 ชิ้น และคุณภาพหน้ากาก ซึ่งรองศาสตราจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยว่าหน้ากากที่นำมาแจกให้ประชาชนนั้น ไม่ตรงคุณสมบัติที่กระทรวงกำหนด เพราะไม่มีลวดล็อกตรงจมูกตามที่กำหนด และเมื่อทดลองเทน้ำลงบนหน้ากากผ้า น้ำก็รั่วซึมทันที สวนทางกับคุณสมบัติที่แจ้งไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ และยังได้ทดลองเปรียบเทียบกับหน้ากากอนามัยที่ขายในร้านขายยา ให้เห็นถึงความแตกต่างเรื่องการกันน้ำอย่างชัดเจน สุดท้ายจึงได้ผลการประเมินว่า หน้ากากอนามัยของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ผ่านมาตรฐานหน้ากากที่ใช้ป้องกันเชื้อโรค

ดังนั้น  จึงเป็นคำถามของคนในสังคมว่าเมื่อหน้ากากไม่ผ่านมาตรฐานป้องกันเชื้อโรคไม่ได้เอามาแจกให้ประชาชนทำไม และการใช้จ่ายงบประมาณ 65 ล้านบาท มีประสิทธิผลและคุ้มค่าหรือไม่ จากข้อมูลการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลิตและจัดส่งหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นนั้นแจ้งว่าส่งไปยังบ้านเรือนประชาชนตามบ้าน 5.6 ล้านชิ้น จำนวน 3,050,000 ครัวเรือน / อีก 4.4 ล้านชิ้น ส่งตามหน่วยงาน ซึ่งหากประเมินค่าใช้จ่ายเป็นค่าผลิตหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นๆละ 2.5 บาท 25 ล้านบาท ค่าซองน้ำตาลจดหมาย 3,050,000 ซองๆละ 0.50 บาท รวม 1,525,000 บาท ค่าซองพลาสติก 3,050,000 ซองๆละ 0.25 บาท รวม 762,500 บาท ค่าส่งจดหมาย 3,050,000 ชิ้นๆละ 2.25 บาท รวม 6,862,500 บาท รวมทั้งหมดประมาณ 34 ล้านบาท แล้วอีก 30 กว่าล้านบาทหายไปเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ อย่างไร
 

ต่อเรื่องดังกล่าวนางวรวรรณ  ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและบริหารโครงการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กล่าวว่า ตามที่นายศรีสุวรรณให้ข้อมูลว่าหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นของกระทรวงอุตฯมีราคาอยู่ที่ชิ้นละ 2.50 บาท เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง  เพราะหน้ากากผ้าของกระทรวงอุตฯเป็นหน้ากากชนิดแบบใช้ซ้ำได้  ไม่ใช่เป็นแบบที่ทางการแพทย์ใช้อยู่

“ก.อุตฯ”โต้ศรีสุวรรณหน้ากากผ้าต้นทุนสูงกว่า 2.50 บาท

ส่วนเรื่องการจะไปยื่นร้องเรียนที่ สตง. นั้น  เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้  ซึ่งอย่างไรเสีย สตง. ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงเพื่อให้ชี้แจง  โดยที่ทางกระทรวงก็มีข้อมูลพร้อม เพียงแต่เวลานี้ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจผิดเรื่องชนิดของหน้ากากผ้าเท่านั้น

“ตนมีข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากผ้าที่กระทรวงอุตฯดำเนินการจัดทำชนิดที่ละเอียดยิบเป็นตารางเซนติเมตรเลย  ขณะที่กระทรวงเองก็มีการชี้แจงไปแล้วหลายครั้ง คุณศรีสุวรรณคงไม่ได้อ่านเรื่องที่กระทรวงชี้แจง ส่วนกรณีที่บางบ้านได้หน้ากากเพียง 1 ชิ้นทั้งที่มีสมาชิกมากกว่า 1 นั้น  ตนได้มีการพูดคุยกับทางไปรษณีย์แล้ว  และทางไปรษณีย์เองก็ยืนยันว่าเช็คตามทะเบียนราษฎร์ที่ทางกรมการปกครองส่งมา  และหากยืนยันว่าบุคคลตามทะเบียนบ้านมีมากว่าที่จัดส่งไป  สามารถแจ้งผ่านทางเว็บไซด์ของกระทรวง  www.industry.go.th ได้ หรือที่เบอร์ 02-2023737 ไปรษณีย์จะส่งซ่อมให้ทันที”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกมาระบุถึงคุณภาพของหน้ากากว่า ต้นทุนในการผลิตหน้ากากผ้ากระทรวงอุตสาหกรรม มีต้นทุนของหน้ากากผ้าอยู่ที่ 6.08 บาท/ชิ้น และค่าบริหารจัดการของไปรษณีย์ไทยแบบพัสดุ EMS 7 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนสูงกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยต้นทุนในส่วนหน้ากากผ้า (ต่อชิ้น) ประกอบด้วย หมวดวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ต้นทุนผ้าที่เป็นไปคุณสมบัติตามเกณฑ์สถาบันสิ่งทอ พร้อมค่ายางยืดหู 2 ข้าง  หมวดการผลิต ได้แก่ ค่าแรงตัด เย็บ และ QC หมวดบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ค่าซอง การพิมพ์และแพ็คสินค้า หมวดทดสอบ ได้แก่ ค่าตรวจสอบคุณสมบัติของผ้าก่อนผลิต ค่าตรวจสอบหน้ากากผ้าหลังผลิตเสร็จตามจำนวนล็อตที่มีการส่งมอบ  และหมวดขนส่งถึงจุดที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด

“ก.อุตฯ”โต้ศรีสุวรรณหน้ากากผ้าต้นทุนสูงกว่า 2.50 บาท

สำหรับผ้าที่นำมาใช้ทำหน้ากากผ้าทุกชิ้นได้ผ่านการตรวจรับรองการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ทั้งก่อนและหลังผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งจะต้องมีลักษณะทั่วไป คือ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์  ไม่มีลายพิมพ์  อ่อนนุ่มต่อผิวสัมผัส และไม่เกิดการระคายเคือง มีน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่  ไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร (หากเกินจะส่งผลให้หายใจได้ลำบาก)

ผ่านการทดสอบคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง โดยการทดสอบสีเอโซ และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ซึ่งหน้ากากผ้าจะมีการตัดเย็บแบบ  2 ชั้น มีการทดสอบการผ่านได้ของอากาศ (Air Permeability) (ต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเซนติเมตรต่อวินาที) และความหนาต้องไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร  จึงขอให้มั่นใจว่า “สามารถใช้เพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่ง จากการไอหรือจาม (ขนาด 5 ไมครอน) และใช้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปได้