ระวัง! ‘Sell in May’ หุ้นไทย

30 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

ตลาดหุ้นไทยพฤษภาคม  ยังผันผวน จับตา “Sell in May”  ซํ้ารอยอดีต จากปัจจัยเดิมๆ พร้อมโควิด-19 คอยกดดัน โบรกมั่นใจไม่ทำนิวโลว์ใหม่

กำลังจะครบ 4 เดือนกับการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยปี 2563 ที่รับความผันผวนอย่างมาก โดยในเดือนมีนาคม ถือเป็นเดือนที่ลดลงมากที่สุด จากดัชนีที่ปรับลดลงถึง 16.01% จากเดือนกุมภาพันธ์ และลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 28.73% หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้มีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั่วประเทศกระทบกับบรรยากาศการลงทุน ขณะที่ในเดือนเมษายน 2563 การซื้อขายเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากการตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เริ่มชะลอลง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 1-27 เมษายน 2563 ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 141.55 จุด หรือ +12.57%

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีความเสี่ยงSell in May” จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงดังกล่าว โดยจากการสำรวจสถิติย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบว่า ดัชนีหุ้นไทยเดือนพฤษภาคม ปรับลดลงทุกปี ยกเว้นปี 2559 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.40% ขณะที่ปี 2562 ลดลงมากที่สุด 3.18%

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาไวรัสโควิดที่ยังอยู่ อาจเป็นการตอกยํ้าให้เกิดเหตุการณ์Sell in May” ซํ้ารอยในอดีตที่เดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงแรงเสมอ เฉลี่ยลดลงราว 2% และเป็นการปรับตัวลงถึง 8 ปีใน 10 ปี โดยมีปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยที่เกิดขึ้นซํ้าๆ คือ เป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาสแรก หากออกมาตํ่ากว่าคาดมีโอกาสที่จะถูกSell on fact” ได้ ซึ่งในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่ากำไรบจ.จะทำจุดตํ่าสุดในไตรมาส 2 ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 อาจจะไม่คึกคักมากนัก

 

ระวัง! ‘Sell in May’ หุ้นไทย

 

นอกจากนั้น ยังเป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมักจะไหลออกจากหุ้นไทยมากที่สุดเฉลี่ยสูงถึง 16,500 ล้านบาท รวมถึงเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้วกว่า 408 ใน 488 บริษัท คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน อีกทั้งก่อนขึ้นเครื่อง หมาย XD ยังได้มีการเก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านมา

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยเลือกลงทุนหุ้น Defensive ราคา Laggard อย่าง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ซึ่ง BTSGIF เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผันผวนตํ่า ราคายัง Laggard กว่ากลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงในช่วงก่อนหน้า มีความโดดเด่นทางพื้นฐานจาก ราคาหุ้น ปัจจุบันยังตํ่ากว่ามูลค่าทางบัญชีอยู่มากถึง 27% และคาดหวังปันผลได้สูงถึง 8.8% ต่อปี

 

ขณะที่ EA ทิศทางกำไรปกติในไตรมาส 1 ปี 2563 คาดเติบโตได้ดีทั้งเทียบกับปีก่อนและจากไตรมาสก่อนหน้า จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่จะผลิตไฟได้มากขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันและได้รับผลบวกจากภัยแล้ง ซึ่งคาดจะทำให้ความเข้มแสงมากกว่าปกติ รวมถึงยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าลมหนุมาน 260 MWe เต็มปี ที่เริ่มผลิตเต็มที่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 เป็นต้นมา หนุนภาพรวมทั้งปี 2563 คาดกำไรปกติเติบโต 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 6,400 ล้านบาท

 

นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสินฯ กล่าวว่า คาด Sell in May จะไม่กดดันหุ้นไทยให้ลดลงทำจุดตํ่าสุดใหม่ โดยคาดว่าจะไม่ตํ่ากว่า 1,170 -1,200 จุด จากที่ผ่านมาในเดือนมีนาคม จุดตํ่าสุดอยู่ที่ 996 จุด ส่วนเดือนเมษายนตํ่าสุดที่ 1,010 จุด ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล พร้อมติดตามการรายงานผลการดำเนินงานบจ. ที่บางกลุ่มยังมีกำไร หรือลดลงไม่มาก รวมถึงการประกาศ MSCI รอบใหม่

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน -2 พฤษภาคม 2563