เก้าอี้ หน.พรรคพปชร. ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ?

29 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3570 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.- 2 พ.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

          สนั่นลั่นทุ่งที่สุด นอกเหนือจากการเกาะติดข่าวคนไทยจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน?

          รัฐบาล ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศปลดล็อคดาวน์ เปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม การเดินทาง การออกกำลังกายกันเมื่อไหร่?

          ประเด็นที่ร้อนฉ่าเปรี้ยงขึ้นมาก็คือ ปมร้อนทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อมีข่าวอื้ออึงว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันเป็นประธานยุทธศาสตร์ จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง จะก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค จากปัจจุบันที่มี อุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นหัวหน้าพรรค และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น เลขาธิการพรรค

          ลึกลงไปสายข่าวระดับกรรมการบริหารพรรค พปชร.บอกว่า “พล.อ.ประวิตร ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคุณอุตตม เพื่อขอให้ลาออก แล้วตัวเองจะเป็นหัวหน้าพรรค” 

          ปรากฎว่า อุตตมไม่ยอมลาออก จึงมีการส่ง “เสธ.อ.” อดีตหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา อดีตรองเสนาธิการทหารบก อดีต สนช. ที่ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิก และ “เสธ.ย.” มือทำงาน ไปล็อบบี้บรรดากรรมการบริหารพรรค ให้ลาออกให้ได้เกินครึ่งหนึ่ง เพื่อให้สถานะของหัวหน้าพรรคพ้นไปตามกฎหมาย ลึกขนาดนั้น...

          สายข่าวพรายกระซิบยังบอกข้อมูลลึกลับว่า เปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรค พปชร.ครั้งนี้ เป็นการรวมพลังของ พล.อ.ประวิตร กับบรรดาแกนนำหลายสาย อาทิเช่น วิรัช รัตนเศรษฐ สุชาติ ชมกลิ่น อนุชา นาคาศัย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล เพื่อรับมือกับปรับครม.ครั้งใหญ่ในกลางปีนี้

          โดยจะมีการเสนอให้ พล.อ.ประวิตร เข้าไปเป็น รมว.มหาดไทย สันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คลัง ศ.ดร.นฤมล จะเป็น รมช.คลัง ณัฐพล ทีปสุวรรณ จะโยกมาเป็น รมว.พลังงาน อนุชา นาคาศัย จะไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ สุชาติ ชมกลิ่น จะไปเป็น รมว.การอุดมศึกษาฯ

          ประเด็นนี้ครึกโคมยิ่งกว่าการยืดระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนเสียอีก เพราะเป็นการผิดความคาดหมาย ผิดที่ ผิดทาง ในยามวิกฤติที่ทุกคนในประเทศกำลังต่อสู้กับโควิด-19

 

เก้าอี้ หน.พรรคพปชร. ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ?

 

          27 เมษายน 2563 นักข่าวไปดักรุมซักถาม “บิ๊กป้อม” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวจะไปนั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และจะปรับ ครม. โดยที่บิ๊กป้อมจะไปนั่งควบ รมว.มหาดไทย ปรากฎว่า พล.อ.ประวิตร หัวเราะเล็กน้อย ก่อนตอบว่า “ยังไม่มีอะไรหรอก ยังไม่มีการประชุมอะไรเลย ต้องไปประชุมก่อน!”

          นักข่าวถามว่า ทำไมข่าวถูกปล่อยมาช่วงนี้และพุ่งเป้ามาที่ พล.อ.ประวิตร ปรากฎว่า “บิ๊กป้อม” กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ก็ไม่รู้สิ"!!!

          เมื่อถามย้ำว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นนายอุตตม จะยังคงเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ยังไม่รู้ แล้วแต่ที่ประชุมพรรค ถ้าที่ประชุมพรรคว่ายังไง ก็ว่าตามเขา...

          ภาษาของนักการข่าว แปลเป็นไทยได้ว่า บิ๊กป้อมไม่ปฏิเสธในเรื่องการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. แทน นายอุตตม ลุงป้อมบอกชัดว่า ยังไม่มีการประชุมอะไรเลย ต้องไปประชุมก่อน!!!

          ใครจะว่าอย่างไรผมไม่รู้ แต่ผมชอบคำชี้แจงและนิสัยของบิ๊กป้อมจริงๆ ครับ เพราะท่านเป็นคนที่ไม่โกหก ท่านเป็นคนจริง คนตรง ไม่มีคด ไม่มีงอ....

          คราวก่อนโน้น ราวเดือนกรกฎาคม 2559 นักข่าวถามบิ๊กป้อมว่า ท่านจะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อต่อท่ออำนาจ คสช.หรือไม่?

          บิ๊กป้อมตอบยังงี้ครับ! “อายุปูนนี้แล้ว หมดงานคสช.นี้ก็ไม่เอาแล้ว ไม่ตั้งพรรค ไม่เล่นการเมือง อยากพักผ่อนแล้ว รู้ตัวว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว” (Band of Brothers: มติชนสุดสัปดาห์ 8 ก.ค.2559)

          หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เข้าไปยุ่งกับการตั้งพรรค พปชร.เลย...มีแต่การส่งทีม ทาบทามคน ส่งเสบียงกรังไปสนับสนุนในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่...555

 

เก้าอี้ หน.พรรคพปชร. ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ?

 

          กระทั่งหลังการเลือกตั้ง พรรค พปชร.เกิดก๊วนต่างๆ มากมาย ภายหลังจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  “บิ๊กป้อม” ที่อยู่เบื้องหลังมานาน ก็ออกจากรังมานั่งร้าน เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562

          บิ๊กป้อม บอกว่า “ผมตั้งใจที่จะเข้ามาทำภารกิจที่สำคัญ ประการแรกดูแลและสนับสนุนการทำงานของส.ส. เพื่อให้ทุกคนกลับมาเป็นส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมุ่งหวังที่จะขยายยอด ส.ส. รักษาฐานเดิมไว้ให้ได้และขยายได้ ส.ส.เพิ่ม...

          ประการที่สอง จะขับเคลื่อน สร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างคะแนนนิยมกับ ส.ส.ในการเลือกตั้งสมัยหน้าด้วย”

          พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ผมมารับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนพรรค จะพยายามทำให้ดีที่สุด หวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกพรรคทุกคน โดยจะสร้างความสามัคคี ความยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้พรรคเข้มแข็ง...

          วันนี้ถือว่า ผมเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว ขอบคุณสมาชิกพรรคทุกคนที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี”

          บื๊กป้อมยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคทหาร แม้ว่าผมจะเป็นทหารก็ตาม ส่วนจะมีทหารคนอื่นเข้ามาอีกหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ และยังไม่จำเป็นที่จะต้องเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องตัดสินใจเอง จะไปตอบแทนนายกฯ ได้อย่างไร...

          เมื่อถามถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประวิตร ตอบว่า อีก 4 ปี ถึงจะมีการเลือกตั้ง จะพยายามทำให้อยู่ครบ 4 ปีให้ได้

          คลื่นลมในพรรคพปชร.ที่มีส.ส.116 คน นำพารัฐบาลผสม 19 พรรค ฝ่าคลื่นลมมรสุมมาหลายลูก แต่ยืนต้านพายุได้มาอย่างหวุดหวิดในหลายครา ล้วนแล้วเป็นการคัดท้ายของ “บิ๊กป้อม” อยู่ไม่น้อยทีเดียว

          และเมื่อเข้าไปจัดการในฐานะประธานยุทธศษสตร์พรรค ลุงป้อมนี่แหละคือ “ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงเสียงจริง” ภายในพรรค ดูแลส.ส.ทั้งเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพเงินตราในกระเป๋า ใครมีปัญหาเดินหน้าไปห้องพี่ป้อมรับรอง “ได้ไปแน่นอน”

          โครงสร้างพรรคในยุค พล.อ.ประวิตร มาคุมก็จัดสรรคนลงไปกำกับ 15 ตำแหน่ง มีรองประธานยุทธศาสตร์พรรค รองหัวหน้าพรรค เลขานุการพรรค มีผู้อำนวยการประจำภาคทุกภาค เพื่อแก้ปัญหาให้กับ ส.ส. 116 ชีวิต โดยมี “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ “ยึดอำนาจ” อุตตม หัวหน้าพรรค ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นแบ็กอัพอยู่ข้างหลังไปโดยปริยายมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 

          แม้จะพูดได้เต็มปากว่า “อุตตม-สนธิรัตน์” มี “อำนาจเต็มตามกฎหมาย” แต่การบริหารจัดการพรรคอยู่ในมือ “ลุงป้อม” เจ้าของพรรคตัวจริงมาโดยตลอด

          ลุงป้อมทำการ “ยึดโยงกับสส.แบบแนบสนิท” จริงๆ เดือนหนึ่งๆ ต้องควักกระเป๋าดูแลชีพจรลูกน้อง “หลายสิบกิโลกรัม” ไม่มีใครในพรรคพปชร.ที่ไม่ทราบในเรื่องนี้

 

เก้าอี้ หน.พรรคพปชร. ให้พี่ไม่ได้เชียวหรือ?

 

          เครดิตในการทำงานลุงป้อมก็ถือว่าไม่ธรรมดา พ.ศ.2545 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ.2546 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2548 เป็นผู้บัญชาการทหารบก 11 ตุลาคม 2549 -  ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย)  20 ธันวาคม พ.ศ. 2551- 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 เมษายน พ.ศ.2553 เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย เป็นรองนายกฯ ด้านความมั่นคง หลังการปฏิวัติรัฐประหารมายาวนานร่วม 5 ปี และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

          ทำงานดี เครดิตขนาดนี้ ทำไม “บิ๊กป้อม”จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ไม่ได้!