ครม.ผ่าน3มาตรการภาษี "ปูเสื่อรอ" นักลงทุนต่างชาติ "ย้ายฐานผลิต"

28 เม.ย. 2563 | 10:13 น.

ครม. อนุมัติ 3 ร่างพระราชกฤษฎีกา "มาตรการภาษี Thailand Plus Package" รองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ

วันที่ 28 เม.ย.63 ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ  ได้แก่   1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)] 2.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง) และ  3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง)

โดยขั้นตอนจากนี้จะให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 

ครม.ผ่าน3มาตรการภาษี "ปูเสื่อรอ" นักลงทุนต่างชาติ "ย้ายฐานผลิต"

ดร.นฤมล อธิบายว่า กระทรวงการคลังเสนอว่า  จากที่ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 และวันที่ 7 ตุลาคม 2562 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 เกี่ยวกับมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมอบหมายให้ กค. ดำเนินการจัดทำมาตรการภาษี ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)  มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง  มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง   

โดย “มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)” เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักร ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซ่มให้คงสภาพเดิม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 

ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20,000 ล้านบาท (ข้อมูลที่กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ในปี 2561 – 2564) ว่า จะมีการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบ Automation ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  

“มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง” เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามสัญญาจ้างแรงงานในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือน (จำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนค่าจ้างที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อเดือน) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 

ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 10,800 ล้านบาท ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยและก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจำนวน 40,000 คน  

และ “มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง” เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่กำหนด สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
 
ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2,400 ล้านบาท  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการฝึกอบรมลูกจ้างจำนวน 40,000 คน และยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศและการพัฒนาการประกอบกิจการของภาคเอกชน 

ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสถาบันไทย - เยอรมัน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แล้วเห็นว่าเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) และนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพคนในการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง และการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ 

สมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม การจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง หรือการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563