โควิด ฉุดยอดใช้น้ำมันปาล์มขวดร่วง 30-40 %

28 เม.ย. 2563 | 09:30 น.

สนพ. เผยสถานการณ์ช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ยอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40 % ส่วนเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือช่วงเดือนมี.ค. - เม.ย. มีปริมาณกว่า 25 ล้านลิตร

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันชีวภาพ ในช่วงวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2563 มียอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40 % จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือเพียง 6-7 หมื่นตัน ส่วนเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเดือนมีนาคม - เมษายน มีปริมาณกว่า 25 ล้านลิตร

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาไบโอดีเซล (B100) อ้างอิงวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 25.26 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.77 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมัน วันที่ 20 – 24 เมษายน 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.70-3.00 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลต่อราคาน้ำมันปาล์มดิบ( CPO) อยู่ที่ 20.00 – 23.00  บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนเกือบ 3 บาทต่อกิโลกรัม

โควิด ฉุดยอดใช้น้ำมันปาล์มขวดร่วง 30-40 %

                                             นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท      

“ตลาดยังค่อนข้างผันผวนจากปริมาณการใช้ที่ลดลงและผลกระทบเนื่องจากไวรัส โควิด-19 ทำให้ปริมาณยอดการผลิตและการจำหน่าย B100 ลดกำลังการผลิตไปประมาณ 20-25% จากปกติ เป็นผลจากความต้องการใช้รถส่วนบุคคล รถสาธารณะ และนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนในด้านการบริโภค ร้านอาหารต่างๆ ยังปิดให้บริการ เหลือแต่บริการรับส่งอาหาร ทำให้การจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40 % จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน โดยราคาน้ำมันขวดขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 38 บาท   ต่อลิตร ลดลงมา 2 บาท ต่อลิตร จากช่วงที่ผ่านมา”

 

ส่วนประเทศมาเลเซียเอง การส่งออกน้ำมันไบโอดีเซลลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 16.43 บาทต่อกิโลกรัมปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทสไทย( กฟผ.) สำหรับผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นเดือน มีนาคม มีประมาณ 169,046 ตัน ส่วนสต๊อกน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2563 เหลือประมาณ 100.39 ล้านลิตร (ข้อมูลล่าสุดถึงแค่สิ้นเดือน มี.ค.)

โควิด ฉุดยอดใช้น้ำมันปาล์มขวดร่วง 30-40 %

 

ขณะที่สถานการณ์ราคาเอทานอล ราคาอ้างอิงเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67 บาทต่อลิตร มีปัจจัยจากราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และโรคใบด่าง ในขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังภายในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น  รวมทั้งราคากากน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และปริมาณความต้องการใช้ในการขอนำเอทานอลไปทำเป็นแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดและแอลกอฮอล์เจลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

โควิด ฉุดยอดใช้น้ำมันปาล์มขวดร่วง 30-40 %

 

ส่วนปริมาณการใช้เอทานอลในเดือนมีนาคม และ เมษายน ลดลงจากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลงตามไปด้วย