โควิดป่วนทุบชาวไร่ระงมราคาอ้อย-น้ำตาลร่วงกราวรูด

28 เม.ย. 2563 | 04:34 น.

วงการอ้อย-น้ำตาลประเมินรับศึกหนักหากโควิดโลกลากยาวร่วงทั้งราคาอ้อยและน้ำตาล  แนวโน้มฤดูการผลิตใหม่ปริมาณอ้อยร่วงหลังชาวไร่ไม่มีแรงจูงใจให้ปลูก

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีความกังวลหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกลากยาว  จะยิ่งกระทบต่อราคาอ้อยปี2563/2564 ที่จะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย  หลังจากที่เคยประเมินไว้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวว่าปัญหาภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราคาทั้งอ้อยและน้ำตาลสูงขึ้น ในขณะที่การบริโภคยังเพิ่มขึ้น 

 

“ตอนนี้กลับตาลปัตร เมื่อโลกเจอปัญหาเดียวกันคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกรงว่าจะทำให้ราคาอ้อยร่วงลงอีกโดยเฉพาะในฤดูการผลิตใหม่ที่จะมาถึง  หลังจากที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกล่าสุดหล่นมาอยู่ที่เลขหลักเดียวแล้วคือราว 9.5 เซ็นต์ต่อปอนด์  จากที่ก่อนหน้านั้นเดือนมีนาคม2563 ราคาน้ำตาลที่ส่งมอบเฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ยิ่งกดให้ราคาอ้อยร่วงต่ำตามกันไปด้วย โดยราคาไม่สูงไปกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งอยู่ในสภาพขาดทุน  ชาวไร่อ้อยจะยืนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อราคาอ้อยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป”

 

โควิดป่วนทุบชาวไร่ระงมราคาอ้อย-น้ำตาลร่วงกราวรูด

นายนราธิปกล่าวอีกว่านับจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  นอกจากทำให้ราคาน้ำตาลร่วงแล้ว การบริโภคน้ำตาลยังไม่เคลื่อนไหวมาก และมีการบริโภคลดลง  ขณะที่บราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกก็ปรับทิศทางการทำตลาด หลังจากที่ราคาน้ำมันร่วงลงรุนแรง  บราซิลก็หันไปนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทนเพราะมีเม็ดเงินที่ได้รับสูงกว่า  การนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล

 

สำหรับชาวไร่อ้อยที่พึ่งพารายได้จากการปลูกอ้อยทั่วประเทศมากกว่า 3 แสนครัวเรือนจะได้รับผลกระทบแน่นอนในแง่ของภาระหนี้สินจากการกู้เงินมาใช้ลงทุนเพาะปลูกอ้อย ยังไม่รวมภาระหนี้ครัวเรือนที่ตามมาอีก

 

สอดคล้องกับที่นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันร่วงแรง  ส่งผลให้ราคาเอทานอลไม่จูงใจ  ผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลต้องหันมานำอ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น จากเดิมที่เน้นนำอ้อยไปผลิตเอทานอลในสัดส่วนที่สูง 60-70% และนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพียง30-40% เท่านั้น

 

โควิดป่วนทุบชาวไร่ระงมราคาอ้อย-น้ำตาลร่วงกราวรูด

 

ล่าสุดบราซิลต้องปรับสัดส่วนใหม่  อีกทั้งการคาดการณ์ว่าราคาอ้อยและน้ำตาลจะดีขึ้นในปี2562/2563  แต่ยังไม่ทันสิ้นฤดูการผลิตดังกล่าวราคาน้ำตาลก็ร่วงจากราคาที่มีการส่งมอบไปเมื่อเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ล่าสุดร่วงลงมาอยู่ที่ 9.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นขณะนี้อยู่ที่ 750 บาทต่อตัน  ยังน่าเป็นห่วงว่าสิ้นฤดูการผลิตปี2562/2563 ที่จะจบลงในเดือนกันยายนนี้ ก็มีแนวโน้มว่าราคาน้ำตาลทั้งปีจะติดลบเล็กน้อย ซึ่งจะต้องดูราคาน้ำตาลส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ(อนท.)ส่งออก 400,000 ตัน  แบ่งการส่งออก 3 ล็อตๆละ 130,000 ตัน  ในช่วงเดือนมีนาคม เดือนพฤษภาคม และโดยเฉพาะการส่งมอบในเดือนกรกฎาคมนี้ต้องดูว่าราคาเป็นอย่างไรและยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ และอีกส่วนเป็นน้ำตาลดิบที่อนท.ขายคืนโรงงานน้ำตาล อีก 400,000 ตัน (รวมมีปริมาณน้ำตาลที่ขายโดยอนท.ทั้งสิ้น 800,000ตัน)

 

“ยอมรับว่าชาวไร่อ้อยลำบาก  วันนี้จะเข็นให้ราคาอ้อยขึ้นไปที่ 750 บาทยังยาก  น่าเป็นห่วงฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่การปลูกอ้อยอาจจะเหลือปริมาณน้อยลงเพราะราคาไม่จูงใจ  จากที่ล่าสุด(ปี25612/2563)มีปริมาณอ้อยราย 75 ล้านตันอ้อย”

 

สัญญาณเตือนปริมาณอ้อยหาย 20%ส่งออกน้ำตาลวูบหนัก