เฝ้าระวัง2.6ล้านแรงงานต่างด้าว

26 เม.ย. 2563 | 05:35 น.

ไทยยกระดับสกัดเชื้อนำเข้า ประกาศ 5 ชาติเพื่อนบ้านเป็นเขตติดโรคร้ายแรง ตรวจคัดกรองเชิงรุกคนหลบหนีเข้าเมือง และแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตทำงาน  2.6 ล้านคน

ขณะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ของไทยอยู่ในการควบคุม คือมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนระดับ 20 คน โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาค  ที่อัตราการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ไทยเมื่อ 25 เม.ย.2563 กระโดดขึ้นเป็น 53 คน จากวันก่อนหน้าที่อยู่ที่ 13 คน ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ที่ติดต่อกันในประเทศเพียง 11 คน แต่อีก 42 คนเป็นการติดเชื้อกลุ่มคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ถูกกักขังรวมกันที่จังหวัดสงขลา จึงต้องพุ่งความสนใจและปรับมาตรการสู่กลุ่มแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงใหม่

ปฏิกิริยาแรกคือ ประกาศเพิ่มเขตติดโรคติดต่อร้ายแรงอีก 5 ประเทศในกลุ่มเพื่อนบ้านในภูมิภาค

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 21 เมษายน 2563  เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563  ๒๕๖๓   และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาในวันรุ่งขึ้น

สาระสำคัญคือ ประกาศให้ 5 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย คือ มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมา มีผลตั้งแต่ 23 เมษายน เพิ่มเติมจากคำสั่งฉบับที่ 1 ให้ 4 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ คือ เกาหลีใต้ จีน(มาเก๊าและฮ่องกง) อิตาลี และอิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย มีผลตั้งแต่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

เนื่องจากประเทศไทยมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่จะเกิดการติดต่อของโรคโควิด 19 ที่มากับผู้เดินทางซึ่งมาจากกลุ่มประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย หรือประเทศที่มีพรมแดนติดกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งมีสถานการณ์การระบาด ของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ที่อาจจะเข้ามาภายในราชอาณาจักร และเพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงเห็นสมควรประกาศกำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักร ที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรา

เฝ้าระวัง2.6ล้านแรงงานต่างด้าว

ควบคู่กันที่สงขลาเข้าตรวจคัดรองเชิงรุก ในกลุ่มชาวต่างชาติที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย ซึ่งถูกกักตัวในศูนย์กักตัว ผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ที่รอส่งกลับประเทศต้นทาง พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 42 ราย โดยทีมแพทย์เข้าไปตรวจรักษาแล้ว แบ่งเป็นชาวเมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 2 ราย กัมพูชา 1 ราย และอินเดีย 1 ราย

การตรวจผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในชาวต่างชาติที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย เป็นไปตามมาตรการคัดกรองเชิงรุกของจังหวัดสงขลา ตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายผ่านมาทางประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่ประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย
 

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เป็นมาตรการที่จะสกัดการแพร่ระบาดของโรค โดยได้ทำการตรวจคัดกรองจำนวน 47 ราย พบผู้ติดเชื้อ 42 ราย ซึ่งทีมแพทย์ได้เข้าไปดูแลรักษาภายในศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการแพร่ระบาดไปสู่กลุ่มอื่น และตรวจไม่พบเชื้อ 5 ราย สำหรับบริเวณศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองฯ ได้เข้าทำความสะอาดสถานที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
 

ตัวเลขที่พบเพิ่มเป็นตัวเลขจากการทำงานเชิงรุก เข้าไปตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม จากการถอดบทเรียนการหวนกลับมาระบาดระลอก 2 จากหอพักกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ทะยอยตรวจเยี่ยมแหล่งชุมชนแรงงานต่างด้าว  เมื่อ 24 เมษายน นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นำคณะลงพื้นที่ ณ ชุมชนบ้านท่าตลาด ตลาดศรีสามพราน และชุมชนยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมาตรการของกระทรวงในช่วงการระบาดเชื้อโควิด -19 ให้ระงับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวใหม่ ส่วนแรงงานต่างด้าวเดิมให้ทำงานต่อได้ถึง 30 พ.ย. 2563 และร่วมกับสภากาชาดไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต้างด้าว โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่าง ต่อไป

สถิติปัจจุบันประเทศไทยมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร จำนวน 2,660,159 คน  โดยเป็นแรงงานประเภทฝีมือ 168,176 คน ตลอดชีพ 241 คน ชนกลุ่มน้อย 44,800 คน และแรงงานประเภททั่วไป 2,446,942 คน 

จากสถิติการปรับปรุงทะเบียนประวัติ ยื่นขออนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ(OSS) ของกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2561 ได้รับอนุญาตทำงาน 1,187,803 คน ประกอบด้วยแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 777,217 คน กัมพูชา 350,840 คน และสปป.ลาว 59,746 คน