เยียวยาเกษตรกร ครัวละ1.5หมื่น ครั้งเดียวจบ

26 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3569 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย.63 โดย... ว.เชิงดอย

 

     .....ถือว่าดีขึ้นตามลำดับสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา-2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อจำนวน 2,634,529 ราย เสียชีวิต 184,021 ราย และประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 848,115 ราย เพิ่มวันเดียว 30,163 ราย ขณะที่ไทยยังอยู่ในอันดับที่ 56 ประเทศโดย “ไทย” พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ จำนวน 13 ราย มียอดผู้ป่วยสะสม 2,839 ราย กลับบ้านแล้ว 2,430 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 359 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดสะสมเสียชีวิต 50 ราย

     .....เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งประชาชน ห้างร้านค้าต่างๆ ต่างก็เฝ้ารออยู่ว่า เมื่อไหร่ “รัฐบาล” จะ “ผ่อนปรน-คลายล็อกดาวน์” ให้ได้กลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ต่อไป เพื่อจะได้มีการจ้าง “แรงงาน” ให้ได้กลับมาทำงานได้อีกต่อไป แต่หากจับสัญญาณจากฝ่ายความมั่นคง การที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม 100% คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่ โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เป็นประธานการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรการข้อกำหนดต่างๆ ซึ่ง พล.อ.สมศักดิ์ แย้มออกมาว่า “ความเห็นของหน่วยงานด้านความมั่นคงเองนั้น มองว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร จึงน่าจะต่อขยาย (พรก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก แต่จะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประเมิน และตัดสินใจ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 27 เมษายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. จะเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะสรุปว่ามีความจำเป็นต้องประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งในวันอังคาร ที่ 28 เมษายนนี้”

     .....สำหรับเรื่อง “ผ่อนปรน” นั้น แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กระซิบมาว่า แม้จะมีแรงกดดันให้รัฐบาลผ่อนปรน แต่ “นายกฯ” ยังไม่เร่งตัดสินใจ แต่ได้ตั้งทีมศึกษาผลกระทบและข้อเสนอในการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะข้อเสนอจาก “ภาคเอกชน” ซึ่งรัฐบาลจะยังไม่ประกาศผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองทั้งหมดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ อย่างแน่นอน แต่มีแนวโน้มที่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จะเริ่ม “ผ่อนคลาย” ให้กับผู้ประกอบการ และอาชีพบางอาชีพ โดยยึดหลัก “ค่อยเป็นค่อยไป” เพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจนเกินไป ส่วน “พรก.ฉุกเฉิน” มีแนวโน้มสูงที่จะมีการพิจารณาต่ออายุออกไปอีก 1 เดือน จนสิ้นสุดเดือน “พฤษภาคม” และเมื่อครบกำหนดแล้ว ก็อาจพิจารณาต่ออายุออกไปอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณโควิด-19 ในประเทศไทย

     .....ปิดฉากไปแล้ว สำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนขอรับ “เงินเยียวยา 5,000 บาท” ผ่าน เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com สำหรับกรณีว่างงาน ตกงาน ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว สั่งปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังสรุปมียอดคนลงทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 28,849,725 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายกรอบจำนวนผู้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เป็นเวลา 3 เดือน เมษายน- มิถุนายน วงเงินประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แต่เมื่อยอดคนลงทะเบียนพุ่งไปซะขนาดนี้ เห็นที่วงเงินที่ “รัฐบาลลูงตู่” วางไว้ไม่น่าจะเพียงพอ คงต้องเพิ่มวงเงินการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าในที่สุดแล้วยอดผู้ “เข้าข่าย” ได้รับเงินเยียวยามีจำนวนเท่าไหร่

     .....คิวต่อไปเป็นทีของ “เกษตรกร” ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 บ้าง ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลเยียวยา ล่าสุด อุตตม สาวนายน เจ้ากระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า การช่วยเหลือเกษตรกร จะใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน ที่มีวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อรายละเอียดมาตรการถูกส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินจ่ายเงินกู้พิจารณาแล้ว เป็นไปได้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในสัปดาห์หน้า

     .....อุตตม บอกว่า ตัวเลขเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะใช้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง ก็จะเป็นงบประมาณอีกชุดหนึ่งที่จะต้องให้การช่วยเหลือต่อไปในอนาคต ส่วนมาตรการที่จะออกมานี้ จะดูแลเกษตรกรในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนการดูแลภาคการเกษตรในเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่จะพิจารณากันต่อไป

     .....สำหรับจำนวนเงินที่จะจ่ายเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ “ว.เชิงดอย” ทราบมาว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ครอบครัวละ 15,000 บาท จ่ายเงินเข้าบัญชี “ครั้งเดียวจบ” ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีทั้งสิ้น 13.286 ล้านครัวเรือน แยกเป็นขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 8 ล้านครัวเรือน กรมปศุสัตว์ 3 ล้านครัวเรือน กรมประมง 0.536 ล้านครัวเรือน การยางแห่งประเทศไทย 1.4 ล้านครัวเรือน และ กองทุนอ้อยและน้ำตาล 0.35 ล้านครัวเรือน ...หากรัฐบาลช่วยเหลือครัวเรือนละ 15,000 บาท จำนวน 13.286 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 199,290 ล้านบาท เกือบ 2 แสนล้านบาท มิใช่น้อยทีเดียว...