มาตรฐาน "อัยการ-ดีเอสไอ" เงินปากถุง "โอ๊ค10ล้าน"

25 เม.ย. 2563 | 07:40 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3569 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย.63 โดย... พรานบุญ

 

          วันนี้พรานฯ ขอออกโรง ตะโกนก้องร้องกระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ้ย!

          บรรดาลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น อย่ามัวสนใจแต่พิษภัยโรคร้ายไวรัสโควิด-19 กันอย่างเดียวนะแม่เอ๋ย!

          ชะเง้อหามาดูวันที่ 25 เมษายน 2563 นี้ เขาจะมีการตัดสินใจทางคดีใหญ่ ลูกคุณท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อันสะท้านปฐพี

          ร้องแหกปากกันสนั่นบ้านสะเทือนดินว่า การตัดสินใจต่อสู้คดีนี้ มีผลให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เด้งดึ๋งไปแล้ว 2 คน

          คนแรก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือเลขที่ ยธ 0822/พิเศษ ลงวันที่ 2 มี.ค.63 แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการ ตั้งวันที่ 2 เม.ย.63 โดยระบุว่า เพื่อดูแลสุขภาพ มีอาการป่วย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นานกว่า 1 เดือนแล้ว

          23 มี.ค.นั้น  สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงข่าวแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เพื่อไปรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ

 

          พ.ต.ท.กรวัชร์ ไปรักษาการอยู่ 4 วัน  วัน 27 มี.ค.63 นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งที่ 109/2563 ลงวันที่ 26 มี.ค.63 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ เป็นรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.63 และมีคำสั่งให้รองอธิบดีดีเอสไอ 4 คน สลับกันปฏิบัติหน้าที่แทน ประกอบด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล พ.ต.ท.สุภัทร์ ธรรมธนารักษ์ และ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฏัมภ์

          ใครว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่...คงต้องกลับไปคิดใหม่ เพราะต้นตอการลาออก-การเปลี่ยนตัวอธิบดี-รักษาการอธิบดี ทั้งหมด มาจากเรื่องเดียวกันนั่นคือ การหาทางต่อสู้ในคดีเงินกู้กฤษดามหานครที่สะท้านเมือง เพราะดันไปเกี่ยวพันกับ “โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายนายกรัฐมนตรี

          ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะคดีนี้สะท้านปฐพีกำลังเข้าสู่โหมดสรุป “โอ๊ค” หลุดไม่หลุดคดี (อ่านเพิ่มเติม...“ดีเอสไอ”ขออัยการ ยืดเวลายื่นอุทธรณ์คดี”โอ๊ค”)

          พรานสรุปให้ชัดแบบนี้ วันที่ 10 ต.ค.61 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบการฟอกเงินตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9 และ 60 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 กรณีนายพานทองแท้ รับโอนเงินเป็นเช็ค 10 ล้านบาท และเข้าบัญชี

          ปรากฎว่า เงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยเงินกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทย กับ กลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลย คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกนายวิชัย และ นายรัชฎา บุตรชาย คนละ 12 ปี

          ในชั้นพิจารณา นายพานทองแท้ ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เงิน 10 ล้านบาท เป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์

 

          ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 62 พิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ พิเคราะห์และเห็นว่า เส้นทางการเงินเป็นไปด้วยความเปิดเผยไม่ปิดบัง หรือซุกซ่อน หรืออำพรางแต่อย่างใด พฤติการณ์ยังเชื่อไม่ได้ว่า นายพานทองแท้ ได้เงินจากนายวิชัย มาจากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่รู้ จึงไม่ผิด

          อีกทั้งนายพานทองแท้ มีทรัพย์สินมากกว่า 400 ล้านบาท เงินแค่ 10 ล้านบาท ที่ได้รับมาคิดเป็นเงินเพียง 0.025% ของทรัพย์สินนายพานทองแท้

          คดีนี้ มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งเห็นยกฟ้อง อีกท่านที่เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และได้ทำความเห็นแย้งไว้ 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่มีหลักสำคัญ คือ ถ้าคดีใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่าศาลจึงต้องมีคำพิพากษายกฟ้อง...!

          คราวนี้มาดูว่า ที่ผู้พิพากษาเห็นแย้งนั้นเขียนว่าอย่างไร คนที่ระคายเคืองใจในกระบวนการยุติธรรมเขาส่งมาให้พรานดูดังนี้

          ความเห็นแย้งกรณีเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายพานทองแท้รับโอนมาจากนายวิชัย ท่านที่เห็นแย้งระบุว่า การที่นายพานทองแท้เบิกความว่า ไม่เคยร่วมประกอบธุรกิจใดกับนายวิชัย จึงไม่มีเหตุที่นายวิชัย จะต้องโอนเงินจำนวนมากให้แก่นายพานทองแท้ แต่นายพานทองแท้ ได้รับโอนเงินดังกล่าว ซึ่งไม่มีหนี้ต้องชำระตามข้อตกลงและการรับโอนเงินโดยไม่มีมูลหนี้จำนวนสูง ย่อมเป็นการตอบแทนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะเงินให้เปล่า เป็นค่าตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่รู้เฉพาะนายวิชัย นายรัชฎา และ นายพานทองแท้   

          นายพานทองแท้ จึงรู้หรือควรรู้ว่าเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้รับมาจากนายวิชัย เป็นเงินส่วนหนึ่งของสินเชื่อธนาคารกรุงไทย ที่อนุมัติให้เครือกฤษดามหานคร จึงเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 (1) (2)

          ปรากฏว่าคดีนี้ พนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว 4 ครั้ง ในระหว่างการขอขยายอุทธรณ์ ครั้งที่ 3 วันที่ 19 มี.ค.63 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ไปยังอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งหรือไม่ และได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เป็นครั้งที่ 4 แล้ว

          และศาลอนุญาตให้ถึงวันที่ 25 เม.ย.63 นี้แหละ

          ถ้าหากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า ไม่ควรอุทธรณ์ คดีจะถึงที่สุด

          หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นแย้ง จะส่งความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อสั่งชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงสลับซับซ้อน  

          ท่านว่ามีอะไรในกอไผ่หรือเปล่าครับเจ้านาย...ใครว่าไม่มี แต่พรานฯ ว่ามีอะไรซุกในกอไผ่

          คดีนายพานทองแท้ พนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลายครั้ง แต่ในที่สุดกลับไม่อุทธรณ์ ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ทำธุรกิจด้านการเงิน เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง และเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จนคนในอัยการอายม้วนต้วนแทบแทรกแผ่นดินหนีไปแล้ว และมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังตั้งเรื่องขอถอดถอนอัยการอยู่ด้วย

          มาบัดนี้ตกอยู่ในมือของ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเห็นด้วยกับพนักงานอัยการ หรือเห็นแย้ง

          คดีนี้จะลงเอยเช่นไร 25 เมษายน ร้อนเป็นไฟ!

          ส่วนมากคดีที่มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการจะอุทธรณ์ โดยสามารถนำความเห็นแย้งของผู้พิพากษาประกอบสำนวนในการยื่นอุทธรณ์ แต่มีบางคดีที่พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องแม้พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้อง

          กรณีซาลาเปาเพื่อน้อง คดีนี้เกิดเมื่อเดือน มิ.ย.42 พี่ชายวัย 16 ปี ทำงานขายซาลาเปาในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ได้หยิบฉวยซาลาเปาที่ขายไม่หมดและกำลังจะนำไปทิ้งหนึ่งลูก ต้องการให้น้องชายได้รับประทานเพื่อประทังความหิว และคิดว่าถึงอย่างไรต้องนำซาลาเปาไปทิ้งห้างสรรพสินค้าได้ดำเนินคดีลักทรัพย์  

          นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) สั่งไม่สั่งฟ้องคดีนี้ โดยให้ความเห็นว่า “แม้เด็กคนนี้ จะมีเจตนาเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยทุจริต แต่เมื่อมองถึงเจตนาแล้วเห็นว่า ทำไปเพื่อเอาไปให้น้องชายได้รับประทานให้คลายจากความหิวโหย แม้จะมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดทางอาญาแต่ต้องดูถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเอาผิดกับผู้มีเจตนาจริงๆ การฟ้องฐานลักทรัพย์ หากเขาต้องติดคุกสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเขาไม่ใช่คนร้ายโดยสันดาน แม้ศาลจะรอลงอาญา แต่กระบวนการยุติธรรมไม่ควรทำให้คนเช่นนี้ต้องมาแปดเปื้อนมีคดีติดตัว ให้มันจบในชั้นอัยการ อย่ามองว่าเด็กคนนี้เป็นอาชญากร เราไม่ควรเอาเขาไปติดคุก อัยการทำงานเพื่อสังคม ไม่ได้มองแค่ตัวบทกฎหมาย”

          คดีของนายพานทองแท้ ชินวัตร ตอนเริ่มแรก กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนหลายครั้ง เพื่อตรวจสอบเส้นทางเงิน และได้ทำความเห็นสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการตรวจสำนวนและมีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม จนได้ฟ้องคดีตอนใกล้จะหมดอายุความ