เฉือน‘คมนาคม’ หมื่นล้านสู้โควิด

27 เม.ย. 2563 | 01:20 น.

คมนาคมโดนเฉือนกว่าหมื่นล้าน เข้างบกลางสู้โควิด-19 เมกะโปรเจ็กต์เลื่อนระนาว “ศักดิ์สยาม” ลั่นปีหน้าใช้พีพีพีฉลุย คลังขอผ่อนผันชำระหนี้ต่อเกณฑ์ 1 ปี พาณิชย์-เกษตรฯตัดเหี้ยนงบประชุม สัมมนาพีอาร์       

รัฐบาลเคาะยอดตัดงบ 100,395 ล้าน ทำพ.ร.บ.โอนไปเข้างบกลางรับมือโควิด-19 และเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน โดยกระทรวงคลังถูกตัดลดงบมากสุด คือ 36,100 ล้านบาท จากที่เสนอ 37,390 ล้านบาท โดยรัฐบาลให้ตัดลดน้อยลง 1,290 ล้านบาท  ขณะที่กระทรวงคมนาคมถูกตัด 10,994.2 ล้านบาท จากที่เสนอตัดเพียง 3,453.5 ล้านบาท  ตรวจสอบแล้วพบว่ามีบางโครงการยังไม่ได้ลงนามสัญญาในกรอบเวลาที่กำหนด จึงให้ตัดลดเพิ่มดังกล่าว

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบเมกะโปรเจ็กต์คมนาคมแทบทุกหน่วยงานได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่กรมทางหลวง ต้องเลื่อนหรือชะลอจำนวน 20 โครงการ อาทิ โครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ด้านตะวันออก ตอนบ.พรุ -ทางเข้าสนามบินหาดใหญ่สงขลา ทางเลี่ยงเมืองอุดรธานี โครงการพัฒนาทางหลวง หมายเลข 227 ตอนกาฬสินธุ์-แยกดงแหลม จังหวัดกาฬสินธุ์ วงเงิน 25 ล้านบาท โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและ
ขนส่ง ทางหลวงหมายเลข 2350 ตอนหนองหาน-กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี วงเงิน 25 ล้านบาท เป็นต้น ของกรมทางหลวงชนบทมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางกว่า 20 โครงการเช่นกัน

ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โครงการที่ลงนามสัญญาไม่ทันกลางปีนี้ คือ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อเวนคืนที่ดิน ซึ่งได้ตัดวงเงินส่วนนี้ไป การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟรางเบาภูมิภาค ที่อยู่ในขั้นตอนขออนุมัติเพื่อเปิดประมูลในปี 2563 และ 2564 ได้แก่ รถไฟฟ้ารางเบา (Tram) จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท, รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมา วงเงิน 8,000
ล้านบาท

 

ปีหน้าฉลุยใช้ “พีพีพี”

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงได้โอนงบที่ถูกตัดลดกว่าหมื่นล้านบาทแล้ว เชื่อว่าจะไม่กระทบกับโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากงบที่ถูกตัดโอนเป็นโครงการปีเดียว หรือจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันตามกำหนด ก็ให้เลื่อนไปตั้งครั้งถัดไปในปีงบประมาณ 2564

“อย่างไรก็ตามให้แต่ละหน่วยไปรวบรวมข้อมูล เพื่อชี้แจงกรณีโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ว่าติดปัญหาอะไร หากเป็นเหตุสุดวิสัยก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ คงต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป แต่เชื่อว่าการตัดงบครั้งนี้จะไม่กระทบต่อโครงการปีงบประมาณ 2564 เนื่องจากส่วนใหญ่เมกะโปรเจ็กต์จะใช้รูปแบบการลงทุนแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ”


เฉือน‘คมนาคม’  หมื่นล้านสู้โควิด

ผ่อนเกณฑ์ชำระหนี้ 1 ปี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สบน.ถูกตัดงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชําระหนี้ภาครัฐ 36,612.2329 ล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้ 35,693.0629 ล้านบาท และรายจ่ายชําระค่าดอกเบี้ยเงินกู้อีก 919.17 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการตั้งงบประมาณ เพื่อการชำระหนี้ลดจาก 2.89% ลงมาต่ำกว่า 2.5% ตามที่กรอบพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังกำหนด ให้ตั้งงบประมาณเพื่อการจ่ายชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 2.5% และไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำ ดังนั้น คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังจะประกาศเป็นการเฉพาะในปีนี้ ส่วนปีหน้าจะต้องกลับไปเหมือนเดิม

 

สำหรับงบชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2563 ที่มีการปรับปรุงใหม่พบว่า ตั้งงบเพื่อการชำระหนี้ทั้งสิ้น 3.89 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 3.98 แสนล้านบาท โดยลดลงประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งคือถอด 3.6 หมื่นล้านบาทออกไป แต่บังเอิญที่มีการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) เข้ามา 6 หมื่นล้านบาท ทำให้สุทธิแล้วงบชำระหนี้จึงลดลงเพียง 9 พันล้านบาท

 

พาณิชย์-เกษตรหั่นงบ

เช่นกัน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การถูกตัดโอนงบในภาพรวมไม่กระทบแผนงานที่ต้องดำเนินการในปีนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นงบที่ไม่จำเป็นในช่วงนี้ อาทิ งบเดินทางไปต่างประเทศ งบประชุมสัมมนา เป็นต้น

 

ด้านนายทองเปลวกองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกโอนงบประมาณมากสุด (1,084 ล้านบาท จากที่กระทรวงเกษตรฯถูกโอนงบ 2,617.8 ล้านบาท) กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นงบประจำที่ไม่จำเป็นในเวลานี้ เช่น งบเดินทาง งบประชาสัมพันธ์ งบจัดประชุมสัมมนา อีกส่วนเป็นงบผูกพัน เช่น การจัดทำระบบส่งน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ การปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำ และอื่นๆ ที่สามารถชะลอออกไปก่อนได้ รวมถึงโครงการซ่อมแซมระบบชลประทานต่างๆ ที่ใช้งบปีเดียว แม้จะกระทบบ้างแต่ไม่เสียหายมาก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563