‘ออมสิน’ ผ่อนปรน 2 เงื่อนไข ช่วยท่องเที่ยวเข้าถึงซอฟต์โลนหมื่นล.

26 เม.ย. 2563 | 05:30 น.

เอสเอ็มอีท่องเที่ยวใจชื้น "ธนาคารออมสิน"ผ่อนปรนเงื่อนไขซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านบาท วาง 2 หลักเกณฑ์ขอสินเชื่อ ชี้ถ้ากู้ 1-2 ล้านบาทเปิดให้หาคนค้ำประกันได้ ถ้ากู้ 5-20 ล้านบาทวางหลักทรัพย์ค้ำ 30%

การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เกิดโควิด-19 และได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นกลุ่มแรกๆ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีเม็ดเงินลงมาอุ้มธุรกิจแต่อย่างใด 

   

แต่ล่าสุดก็พอมีลุ้นว่าผู้ประกอบการบางส่วนกำลังจะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ จากมาตรการซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท ภายใต้มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ระยะที่ 1 ซึ่งมีการกันวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาทให้กับธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ หลังจากเจรจากันหลายรอบจนธนาคารออมสินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการแล้ว

 

‘ออมสิน’ ผ่อนปรน 2 เงื่อนไข ช่วยท่องเที่ยวเข้าถึงซอฟต์โลนหมื่นล.

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในระดับเอสเอ็มอี พอจะเริ่มมีความหวังว่าจะได้รับซอฟต์โลนที่รัฐบาลกันไว้ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลังจากมีการเจรจาร่วมกัน และทางธนาคารออมสินก็ยอมผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการยื่นขอสินเชื่อให้ ได้แก่

 

1. กู้ในวงเงิน 1-5 ล้านบาท ผู้กู้สามารถหาคนที่ทางธนาคารเชื่อถือมาค้ำประกันให้ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมค้ำให้ 40% และธนาคารจะไม่คิดค่าวิเคราะห์โครงการ

 

2. กู้วงเงิน 5-20 ล้านบาท ผู้กู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 30% และบสย.ร่วมค้ำให้ 40% และธนาคารจะคิดค่าวิเคราะห์โครงการ 0.25-0.50% ของวงเงินกู้

 

ทั้งนี้ธนาคารออมสินจะพิจารณางบการเงินย้อนหลัง 2 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อได้รับสินเชื่อ ทางธนาคารก็จะหารเฉลี่ยออกเป็น 6 งวด เพื่อทยอยจ่ายเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ การผ่อนปรนดังกล่าวก็จะทำให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินได้ เพราะสามารถหาคนที่น่าเชื่อถือมาช่วยค้ำประกันได้ จากเดิมที่จะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น

 

ขณะนี้สทท.ได้ส่งรายชื่อผู้ขอกู้เงินล็อตแรกให้ทางธนาคารออมสินพิจารณาแล้ว 1,200 ราย มียอดวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 4 พันล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล ก็จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อออกมาก่อน ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ก็น่าจะเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง หลังจากรอกันมานาน

 

อย่างไรก็ตามจริงๆ ความต้องการซอฟต์โลนของ 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว รวมกันแล้วอยากได้สินเชื่อรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท การกันวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท ก็คงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เราก็อยากดูก่อนว่าเฉพาะสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาทท้ายสุดผู้ประกอบการจะได้ซอฟต์โลนจริงเท่าไหร่ เพราะถ้ายังไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ก็คงจะไม่สามารถเรียกร้องขอให้รัฐกันวงเงินซอฟต์โลนเพิ่มได้

สำหรับมาตรการซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ที่จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกเซ็กเตอร์ โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตราบใดที่กระทรวงการคลังหรือแบงก์ชาติ ยังไม่ได้มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนผันหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีท่องเที่ยวก็คงจะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนนี้ได้ เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อก็เป็นเหมือนการกู้แบบปกติทั่วไป ไม่ได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ

         

นอกจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้ว สทท.ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดทำแพลต ฟอร์ม Voucher Commerce ซึ่งเป็นลักษณะของ อี-มาร์เก็ตเพลส เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 สามารถขายเวาเชอร์ล่วงหน้า ผ่าน www.scbshopdeal.com ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอการขายห้องพัก อาหาร หรือ สปา ในราคาพิเศษผ่านเว็บไซด์ดังกล่าว โดยไม่เสียค่าคอมมิสชัน ยกเว้นกรณีที่ลูกค้าชำระเงินโดยใช้บัตรเครดิต ทางร้านค้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมธนาคารเอง

 

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดใช้งานในวันที่ 24 เมษายน 2563 นี้ ที่ในช่วงแรกทางสทท.และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) จะคัดเลือกธุรกิจที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมขายสินค้าและบริการในแพลตฟอร์มนี้ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าจะไม่มีการโกงกันเกิดขึ้น และทางธนาคาร จะช่วยในการโปรโมต ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาซื้อบริการท่องเที่ยวต่างๆ ในปีนี้ เพื่อเดินทางไปเที่ยวในปีหน้า ซึ่งก็จะช่วยทำให้ธุรกิจมีรายได้หมุนเวียนในช่วงนี้

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26-29 เมษายน 2563