ทีเอ็มบีชูรายใหญ่ช่วยรายเล็ก ปลอดล็อคสภาพคล่องเอสเอ็มอี

24 เม.ย. 2563 | 11:24 น.

ทีเอ็มบีแนะรายใหญ่ช่วยรายเล็กเอสเอ็มอี –เปลี่ยนจากจ่ายเชื่อเป็นเงินสด หนุนผู้ประกอบการรับเงินสดเร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อใช้หมุนเวียน-ปลดล็อคสภาพคล่องไหลเข้าเร็วขึ้น 1.1หมื่นล้านบาทต่อวันหรือราว 3,500บาทต่อรายทำให้ธุรกิจอยู่รอดพร้อมช่วยรักษาการจ้างงานภาคการผลิต การค้าและบริการ

ทีเอ็มบีชูรายใหญ่ช่วยรายเล็ก ปลอดล็อคสภาพคล่องเอสเอ็มอี

 TMB Analytics มองกลไกความช่วยเหลือที่เกิดจากผู้ประกอบการด้วยกันเองในซัพพลายเชน  เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สภาพคล่อง SME ดีขึ้นได้   โดยใช้โมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” กล่าวคือ ธุรกิจรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคบริการ ล้วนมีซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งการจ่ายเงินแบบมีระยะเวลาการจ่าย (Credit Term) หรือเป็นเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ (Account Payable) แทนการจ่ายสดทันทีที่ได้รับสินค้า หากรายใหญ่ในทุกภาคธุรกิจ ช่วยเหลือ SME โดย"เปลี่ยนจากจ่ายเชื่อเป็นจ่ายสด" ให้เร็วขึ้น   
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลงบการเงินธุรกิจ พบว่าเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจรายใหญ่รวมกันอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท หากธุรกิจรายใหญ่จ่ายเป็นเงินสดให้ลูกค้ารายเล็กเร็วขึ้น 1 วัน จะทำให้ SME มีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจในภาพรวมถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือราว 3,500 บาทต่อราย  โดย SME ภาคการผลิตได้รับเร็วขึ้น 8,717 บาทต่อคนต่อวัน  ภาคการค้า อยู่ที่ 2,466 บาทต่อคนต่อวัน และภาคบริการ 1,543 ต่อคนต่อวัน นั่นหมายถึง “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” จะช่วยทำให้ SME  ได้รับเงินสดเร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อนำไปใช้ในการหมุนเวียนและเป็นสภาพคล่องในธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอด สามารถรักษาการจ้างงานได้ต่อไป และพร้อมที่จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 TMB Analytics เผยจากการวิเคราะห์แนวทางช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่า ในแง่มุมของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ธุรกิจรายใหญ่สามารถอัดฉีดสภาพคล่องให้ SME ในโมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไหลเข้าเร็วขึ้นเฉลี่ย  1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือ 3,500 บาทต่อราย เพิ่มเติมจากที่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการภาครัฐ และสถาบันการเงินในขณะนี้  เพื่อช่วยให้ SMEอยู่รอดและไปต่อได้  ที่สำคัญช่วยรักษาการจ้างงานที่มีอยู่เกือบ12 ล้านคนทั่วประเทศ เยียวยา SME ไม่เพียงเพื่อ SME อยู่รอด แต่เป็นการช่วยเหลือการจ้างงานของครัวเรือนในทุกภาคของประเทศ 
   

 อย่างไรก็ตาม จากการที่ SME  มีบทบาทสาคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านการผลิต SME เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย ที่สำคัญเป็นฐานผลิตสินค้าขั้นกลางป้อนธุรกิจรายใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก  สอดคล้องกับผลผลิตจาก SME คิดเป็น 42.4%ของผลผลิตรวมหรือ GDP  ในขณะเดียวกัน SME มีบทบาทอย่างมากต่อการจ้างงานของประเทศ เนื่องจาก SME ที่มีการจดทะเบียนทั้งประเทศกว่า 3 ล้านราย  มีการจ้างงานจำนวนมากประมาณ 12 ล้านคน กระจายอยู่ทั้งภาคบริการ(3.9 ล้านคน) ภาคการค้า(3.8 ล้านคน) และภาคการผลิต(3.4ล้านคน)  โดยธุรกิจบริการที่มีการจ้างงานสูงๆ เป็นธุรกิจร้านอาหาร ที่พัก การบริการด้านธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์   ในส่วนภาคการค้า มีการจ้างงานสูงและกระจายตัวทั่วประเทศในธุรกิจขายปลีก ขายส่ง การซ่อมยานยนต์  และสำหรับภาคการผลิตที่มีการจ้างงานสูงๆอยู่ในภาคก่อสร้าง ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การผลิตเครื่องแต่งกาย  จากการที่ SME เป็นฐานรองรับการจ้างงานส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้การอยู่รอดของ SME มีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนของประเทศ