พิษโควิด-ราคานํ้ามันลง ฉุด EV แจ้งเกิด

28 เม.ย. 2563 | 08:50 น.

อุตสาหกรรมยานยนต์ และซัพพลายเชนทั่วโลกกัดฟันสู้โควิด-19 เร่งปรับการผลิต กระจายความเสี่ยง ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนกระทบหนัก BOI หนุนทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ หวั่น “อีวี” แจ้งเกิดช้าลง แถมราคานํ้ามันร่วง คนชะลอการตัดสินใจหันไปหารถพลังงานใหม่

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งยอดการผลิตรถยนต์เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 มีจำนวน 453,682 คัน ลดลง 19.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ คาดว่ายอดขายรถยนต์ทั่วโลกปีนี้จะลดลงประมาณ 15% จากวิกฤติโควิด-19 หรือตัวเลขราว 80 ล้านคันน้อยกว่าปี 2562 ที่ทำได้ 90.3 ล้านคัน

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่รถพลังงานไฟฟ้า xEV (ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด,อีวี) ซึ่งประเทศไทยกำลังเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนในทุกมิติ โดยตั้งเป้าหมาย 10 ปีข้างหน้า ต้องผลิต xEV ให้ได้ 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมด (คาดไว้ 2.5 ล้านคันต่อปีเพื่อส่งออกและขายในประเทศ)

พิษโควิด-ราคานํ้ามันลง ฉุด EV แจ้งเกิด

รายงานจากสมาคมยานยนต์ ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า การเเพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาห กรรมยานยนต์โดยรวม และทิศทางการลงทุน รวมทั้งเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยวางเป้าเป็นฐานการผลิตในระยะยาว มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะตลาดในประเทศไทย แต่จะมีผลกระทบในเชิงลูกโซ่จากทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยฝ่ายส่งเสริมการใช้ กล่าวว่า ไทยถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค ด้วยแรงงานมีทักษะความชำนาญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้น จึงควรเร่งส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม-ยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

“การต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นจุดที่น่าสนใจในยุคนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีทิศทางที่น่าจะเติบโตได้เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาที่ไม่สูงมาก”

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ระบบสันดาปภายใน จะได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะตลาดชิ้นส่วนประกอบ (OEM) อย่างระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์จะถูกทดแทน ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แรงดันสูง

“ส่วนราคานํ้ามันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายคนสงสัยว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากในช่วงเวลานี้ แต่ในระยะยาวนั้น เราเชื่อมั่นว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด เป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งเเวดล้อม การมีส่วนช่วยลดมลภาวะ ซึ่งคนกลุ่มนี้จริงๆ เเล้วเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ” นายกฤษฎา กล่าว

พิษโควิด-ราคานํ้ามันลง ฉุด EV แจ้งเกิด

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมยานยนต์โลกและซัพพลายเออร์ ต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ OEM พร้อมเพิ่มปริมาณสต๊อกชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเป็น และอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพิงการผลิตและการจัดหาชิ้นส่วนการผลิตในประเทศเดียวมากขึ้น โดยหันมาลงทุนผลิตและกระจายการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์มายังประเทศอื่นที่มีศักยภาพ ซึ่งไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสม และมีโอกาสที่จะดึงการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า หากภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการรูปแบบต่างๆ

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายหนึ่งเปิดเผยว่าราคานํ้ามันมีผลด้านจิตวิทยาระยะสั้นกับคนที่จะซื้อรถไฮบริด หรืออีวี เพราะจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้มีรายได้มั่นคง หรือต้องการซื้อเพื่อภาพลักษณ์ และรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคานํ้ามันที่ดิ่งตัวขนาดนี้ มีผลต่อการตัดสินใจในการหันไปหารถพลังงานใหม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการมาถึงของยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี บางกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มปรับตัวมาสักระยะแล้ว โดยหนึ่งในแนวทางคือ ปรับโรงงานไปผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มแรงจูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ด้วยมาตรการต่างๆ โดยผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 จะได้รับสิทธิลดภาษีนิติบุคคลลง 50% เพิ่มออกไปอีก 3 ปี (ปกติได้อยู่แล้ว 3-8 ปี) ทั้งนี้ต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และจะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564

ขณะที่การปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 แต่ต้องยื่นขอปรับโครงการก่อนเดือนกันยายน 2563 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563