​อาเซียนนัดประชุมทางไกล ถกแผนรับมือผลกระทบจากโควิด-19

24 เม.ย. 2563 | 05:41 น.

อาเซียนเตรียมนัดประชุมผ่านระบบทางไกล หารือแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่ผู้นำอาเซียนมอบหมาย พร้อมติดตามงานการผลักดันประเด็นเศรษฐกิจ การทบทวนความตกลงการค้าสินค้า และลงนาม MRA ยานยนต์ เผยยังจะประชุมทางไกลกับคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และแคนาดา หาทางรับมือผลกระทบโควิด-19 และเร่งเดินหน้าเปิดตลาดการค้าเพิ่มเติม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/51 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย.2563 โดยในการประชุมครั้งนี้ จะหารือแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็นเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งเร่งรัดการทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน

​อาเซียนนัดประชุมทางไกล  ถกแผนรับมือผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จ ในปี 2563 ภายใต้แนวคิด อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว (Cohesive and Responsive ASEAN) ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนมี.ค.2563 ที่ผ่านมาด้วย รวมทั้งการทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เช่น การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) เพื่อรองรับรูปแบบการค้าปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น และการเร่งรัดการลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านยานยนต์ เป็นต้น     

    ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนจะประชุมผ่านระบบทางไกลหารือกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และแคนาดา โดยจะหาแนวทางความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และในประเด็นอื่นๆ เช่น จีน จะหาแนวทางเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ญี่ปุ่น เร่งรัดการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เกาหลี หาแนวทางการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) และแคนาดา เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านดอลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์