พิษโควิดกระทบแรงงานภาคยานยนต์7.5แสนคน

23 เม.ย. 2563 | 09:25 น.

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หวั่นโควิด-19 ยืดเยื้อกระทบแรงงาน 7.5 แสนคนในระบบซัพพลายเซน พร้อมเล็งปรับเป้ายอดผลิตและยอดขายในประเทศ หากสถานการณ์ยังไม่จบคาดยอดหายไป 50 %

นาย สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของยานยนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งต้องปิดชั่วคราว และจากเดิมมีกำหนดการเปิดหลังสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ต้องเลื่อนออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน


หากสถานการณ์ยังยืดเยื้ออกไป อาจจะทำให้เกิดการเลิกจ้างบางส่วน เพราะผู้ผลิตรถยนต์ หรือ บริษัทชิ้นส่วนต่างๆที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือเป็นห่วงโซ่อุปทานกันในอุตสาหกรรมนี้มีแต่รายจ่ายแต่ไม่มีรายรับเข้ามา ส่วนการคาดการณ์ว่าจะเลิกจ้างเท่าไรนั้นยังคงประเมินไม่ได้ เพราะขึ้่นอยู่กับสายป่านของแต่ละบริษัทว่ามีมากน้อยแค่ไหน และการบริหารจัดการของแต่ละบริษัทในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร 

พิษโควิดกระทบแรงงานภาคยานยนต์7.5แสนคน



 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย มีแรงงานอยู่ในระบบทั้งสิ้น 7.5 แสนคน (รวมทั้งระบบซัพพลายเซน อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์ ,ผู้ผลิตชิ้นส่วน เหล็ก ,ยาง,ผ้าใบ ,ตัวแทนจำหน่าย พนักงานขาย พนักงานบริการ ,อู่หรือศูนย์ซ่อมทั่วไป )


"ทุกวันนี้ผู้ผลิตรถยนต์ยังคงจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน หรือแม้แต่โชว์รูมต่างๆก็ยังคงมีรายจ่ายเท่าเดิม ดังนั้นหากยังยืดเยื้อออกไป ก็คาดว่าจะมีการเลิกจ้าง ,ปรับลดเงินเดือน ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีให้เห็น ยกตัวอย่างล่าสุดที่ได้รับทราบข่าวมามีบางบริษัทในต่างประเทศที่จะลดคนกว่า 2 หมื่นคน " 

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อาจมีการปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยเบื้องต้นหากเหตุการณ์จบภายใน 2 - 3 เดือนนี้ ยอดต่างๆอาจจะหายไปประมาณ 30  % หรือแบ่งเป็นการขายในประเทศ 7 แสนคัน และส่งออก 7 แสนคัน รวม 1.4 ล้านคัน  แต่หากมองในมุมที่เลวร้ายที่สุด หากทุกอย่างยืดเยื้อ อาจจะเหลือแค่ 1 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นส่งออก 5 แสนคัน และขายในประเทศ 5 แสนคัน  


"เรายังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการปรับลดยอดผลิต เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อไร และสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันกระทบทั่วโลก ดังนั้นจึงประเมินได้ค่อนข้างยาก   "

พิษโควิดกระทบแรงงานภาคยานยนต์7.5แสนคน
นาย สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โควิด -19 ถือว่ารุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง เพราะกระทบทั้งโลก และยังไม่มีวัคซีน ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆจะจบเมื่อไร ซึ่งสิ่งที่อยากขอให้ทางภาครัฐช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้สร้างอำนาจซื้อขึ้นมาเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย