อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

23 เม.ย. 2563 | 07:46 น.

กนช.ประเมินพายุฤดูร้อน 23-27เม.ย.เร่งเก็บกักน้ำก่อนเข้าฤดูฝนคาดกลางเดือนพ.ค.นี้ ชี้ปี’63 ฝนจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ระดมหน่วยเกี่ยวข้องประเมินพื้นที่เสี่ยงท่วมซ้ำซาก

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ  (กนช.) ครั้งที่ 8/2563 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงจากนี้ไปซึ่งถือว่าจะใกล้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว โดยในช่วงวันที่ 23 – 27 เม.ย.หรือช่วง 5 วันนี้ ประเทศไทยในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน จากที่ก่อนหน้านี้มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่เช่นกัน ส่งผลให้ 30 จังหวัดมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยกว่า 60 มิลลิเมตร ซึ่งครอบคลุมถึง 12 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประกาศภัยแล้งของ ปภ.ด้วย จึงถือว่าช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งให้คลี่คลายลง และเพิ่มความชุ่มชื้นได้ในหลายพื้นที่

อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลงในแหล่งน้ำ คลอง แม่น้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ได้นำน้ำในแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์ก่อนดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำฯ ทั้งนี้ เพื่อสำรองน้ำต้นฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 25 แห่ง จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจะมีครอบคลุมและเพียงพอถึงสิ้นเดือนมิถุนายนตามแผนอย่างแน่นอน

อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

สำหรับการคาดการณ์เข้าสู่ฤดูฝนที่ประชุมได้มีการประเมินว่าจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เนื่องจากมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และในภาพรวมปริมาณฝนในปี 2563 จะมากกว่าในปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน  ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงมาตรความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า โดยให้คำถึงปริมาณน้ำเก็บกักที่มีอยู่ในปัจจุบัน การคาดการณ์ปริมาณฝนในแต่ละช่วงเวลาเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะการสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกรซึ่งจะต้องพิจารณาจากปริมาณฝนเป็นหลัก เพื่อป้องกันผลกระทบกับผลิตของเกษตรกรในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้น

อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

“ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบแนวทางการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฤดูฝน ปี 2563  ซึ่งคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะร่วมกันวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ดินโคลนถล่ม หรือเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนด้วยให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยเกี่ยวข้องมาประเมินร่วมกัน ก่อนนำไปสู่การกำหนดแนวทางมาตรการในพื้นที่เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา ก่อนส่งข้อมูลต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานในพื้นที่

อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

รวมถึงประชาชนได้มีการเตรียมการรับมือ  ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีกรอบแนวทางการดำเนินการเบื้องต้นแล้ว เช่น  การกักเก็บน้ำในอ่างฯ ตามเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำในระบบคลองชลประทานแทนการระบายน้ำจากเขื่อน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี เป็นต้น การแจ้งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรให้รอฝนก่อนจะเริ่มทำการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงของผลผลิตทำนา ส่วนในพท.เพาะปลูกแล้วก็จะต้องส่งเสริมวิธีการใช้นาเปียกสลับแห้ง จัดรอบเวร ประหยัดน้ำ หมุนเวียนในระบบในลำน้ำธรรมชาติ และระบบชลประทาน การปลูกพืชน้ำน้อย รวมถึงใช้น้ำจากน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เป็นต้น”

อุตุฯ คาดปี63 ฝนเพิ่มขึ้น

 เลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับผลความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 ในการสนับสนุนแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้วกว่า 52% จากแผน จากจำนวนโครงการที่ได้รับการจัดสรรงประมาณ 1,243 แห่ง  โดยทุกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปได้เริ่มดำเนินการแล้ว 692 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำ 118.65 ล้าน ลบ.ม. รับประโยชน์ 115,336 ครัวเรือน ผู้ใช้น้ำ 183,192 ราย ความจุเพิ่มขึ้น 0.70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานเร่งรัดโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เพื่อให้โครงการต่างๆ แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ตามแผนอีกด้วย