เสียงจากหมอชนบท " ไม่ส่งงบมาช่วยไม่ว่า ยังมาตัดงบเราอีก"

23 เม.ย. 2563 | 03:26 น.

ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ตัดพ้อรัฐบาล หลัง ครม.พิจารณา หั่นงบสาธารณสุขและบัตรทอง แบ่งตั้งงบสำรองฉุกเฉิน แก้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ชี้วิธีคิดผิดเพี้ยน สอบตกโดยสิ้นเชิง หลังระบุ ทุกโรงพยาบาลกำลังทำงานหนัก มีรายจ่ายมากมาย ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่า

เพจชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่บทความ " ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 18"  23 เมษายน 2563 ซึ่งเขียนโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ  จังหวัด สงขลา โดยมีใจความน่าสนใจดังนี้ 


โควิด  ตัดงบสาธารณสุขและบัตรทอง รัฐบาลเพี้ยนอีกแล้ว

ช่วงโควิดผมไม่ได้เขียนวิจารณ์รัฐบาลมาหลายวันแล้ว ตั้งใจเขียนงานกึ่งวิชาการเผยแพร่แทน  แต่วันนี้ไม่วิพากษ์รัฐบาลบ้างคงไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลแอบหั่นงบสาธารณสุขและบัตรทอง   

หลักการง่ายๆของรัฐบาลก็คือ ตัดงบกันถ้วนหน้า ทุกกระทรวงต้องหั่นงบมาลงขันตามเปอร์เซ็นต์ที่ไม่รู้ใครกำหนด ประมาณว่า รมต.เจ้ากระทรวงหรือปลัดกระทรวงก็จำใจต้องทำตาม ไม่อาจมีปากเสียงได้ ราวกับเรายังอยู่ในยุค คสช.

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ได้มีการพิจารณาเรื่อง การโอนงบประมาณ 2563 และได้มีมติตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบ “บัตรทอง” จำนวน 2,400 ล้านบาท รวมทั้งงบของกระทรวงสาธารณสุขเอง 1,200 ล้านบาท รวมเป็น 3,600 ล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 

คนไทยทั้งประเทศคงยังไม่ทราบว่า “ตลอดสามเดือนที่มีการระบาดของเชื้อโควิด โรงพยาบาลต่างๆแทบไม่เคยได้รับงบประมาณที่เป็นตัวเงินจากรัฐบาลเลย” นี่คือความจริงที่เราไม่อยากจะบ่นออกมา   มีเพียงการส่งของมาให้เป็นหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ชุด PPE เป็นต้น  แต่งบสักแดงเดียวมาเติมในกระเป๋าเงินบำรุงของโรงพยาบาลนั้นยังไม่มี  แต่ละโรงพยาบาลนั้นใช้เงินบำรุงที่เก็บสะสมไว้เองมาเป็นเงินใช้จ่ายมากมายในช่วงนี้  และเกือบทุกที่ต้องเปิดรับเงินบริจาคจากประชาชน ซึ่งสามารถช่วยโรงพยาบาลได้อย่างมาก 

ในช่วงโควิด รายจ่ายสำคัญของทุกโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นคือ รายจ่ายในการปรับปรุงปรับเปลี่ยนสถานที่ให้รับกับสถานการณ์โควิด ตัวอย่างเช่นที่โรงพยาบาลจะนะ เราเพิ่มจุดคัดกรอง เราปรับปรุงหอพักแพทย์ให้เป็นหอผู้ป่วยโควิดขนาด 20 เตียง  เราต้องจัดอัตรากำลังมาสอบสวนโรคทุกวันซึ่งต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม เราจัดยาโรคเรื้อรังส่งตรงไปที่บ้านผู้ป่วยกว่า 5,000 คน ซื้อครุภัณฑ์การแพทย์เพิ่ม ลงทุนกั้นห้องแบ่งส่วนเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ต้องปรับปรุงห้องฉุกเฉิน ต้องสนับสนุนงบแก่ รพ.สต. เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนใช้เงินบำรุง เงินจัดสรรจาก สปสช.ตามปกติ หรือเงินบริจาคทั้งสิ้น ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบเพิ่มเติมจากลุงเลย

ไม่สนับสนุนงบให่กระทรวงสาธารณสุขหรือ สปสช.เพิ่มนั้น เราก็พอจะเข้าใจได้ เพราะรัฐบาลมีรายจ่ายสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจและดูแลประชาชนที่ยากลำบาก  โรงพยาบาลต่างๆจึงแทบไม่มีใครออกมาเรียกร้องว่า “เข้าเนื้อ ของบเพิ่ม” แต่การมาตัดงบของสายสุขภาพลงไป 3,600 ล้านบาทนั้น เข้าใจไม่ได้เลย และไม่เข้าใจเลยว่า “ทำไมรัฐบาลจึงเพี้ยนเช่นนี้” 

กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลเกือบ 1,000 แห่ง รพ.สต.อีก 10,000 แห่ง ทุกแห่งทำงานเต็มที่สู้ศึกโควิด ทุกแห่งควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม แต่นี่ไม่เคยให้งบเราแล้วยังมาตัดงบเราอีก วิธีคิดแช่นนี้ “สอบตกโดยสิ้นเชิง” ครับ