อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ .... ถ้าไม่มีโควิดก็หมดหวัง

23 เม.ย. 2563 | 00:24 น.

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ .... ถ้าไม่มีโควิดก็หมดหวัง

วิกฤติไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ อาจมีผลกระทบมากมายหลายด้าน แต่ก็มีข้อดีที่เป็นระฆังหรือกระดิ่งปลุกเตือนให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหันมาตรวจสอบศักยภาพทางสาธารณสุขของตนเองอย่างจริงจัง การขาดแคลนหน้ากากอนามัย เครื่องมือแพทย์หลากประเภท เครื่องช่วยหายใจ ชุดผ่าตัดและป้องกันโรค หรืออื่น ๆ ที่หาไม่ได้ยามวิกฤติ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลาปกติเราไม่เคยขาดแคลน เพราะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้วันนี้ทำให้ทุกประเทศหันมาดูความมั่นคงและการพึ่งตนเองทางด้านสาธารณสุข หลายประเทศเร่งมีการลงทุนหรือให้หลายธุรกิจแปลงสายการผลิตมาผลิตเครื่องมือแพทย์ในยามนี้

 

ในเรื่องนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็เสนอให้เพิ่มแรงจูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศให้มากขึ้นและอย่างเร่งด่วน เพราะคิดว่า COVID คงอยู่กับเราอีกสักพักใหญ่ ๆ ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศเป็นสิ่งจำเป็น มาตรการจูงใจ ได้แก่ 

 

1.การเร่งการลงทุนในเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทที่จำเป็น โดยผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 จะได้รับสิทธิ์ลดภาษีนิติบุคคลลงร้อยละ 50 เพิ่มออกไปอีก 3 ปี (ปกติได้อยู่แล้ว 3-8 ปี) ทั้งนี้ต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564

2.การปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 แต่ต้องยื่นขอปรับโครงการก่อนเดือนกันยายน 2563

 

3.การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กิจการผลิต Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็น 5 ปี

 

มาตรการนี้ถือว่า BOI ออกมาตรงจุดและทันเวลาที่ประเทศไทยต้องการ แต่การสร้างอุตสาหกรรมนี้มีด้านอื่นที่ต้องทำอีกหลายด้านและต้องทำพร้อมกัน ไม่ว่าเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ คุณภาพและมาตรฐานของห้องทดสอบ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ความพร้อมของบุคลากรทุกด้านที่เกี่ยวข้อง และโครงสร้างการรับรองต่าง ๆ อีกมาก 

ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณอนุศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ข้อสังเกตุน่าสนใจว่า วิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ทำให้เราต้องกลับไปเร่งวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมด้านสุขภาพของเราใหม่หมด และอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เราหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ทางเศรษฐกิจของเราอยู่แล้ว

 

แต่วันนี้เราอาจต้องมองบริบทความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศควบคู่กันไปด้วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพที่ชัดเจนในการดูแลยุทธศาสตร์รวม แยกแยะมาตรการออกมา และให้รัฐแจกแจงให้หน่วยงานปฏิบัติต่าง ๆ ให้ชัดเจน และเจ้าภาพต้องติดตามผลการดำเนินงานนั้นด้วย เพราะถ้าหากปล่อยให้ต่างคนต่างทำ ต่างคิด โดยไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ก็จะไม่ไปไหนไกล และที่เดินได้ก็ไปคนละทิศละทาง

 

 นอกจากนี้ วันนี้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องการแพทย์ที่อยู่ระดับแนวหน้าของโลก ในขณะเดียวกันเราก็มีวัตถุดิบทางด้านอาหารหลากชนิด จนได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก หากสามารถสร้างจุดแข็งด้านอาหารทางการแพทย์ก็น่าจะทำได้ เหมือนเกาหลีใต้วันนี้ผสมเรื่องความงามเข้ากับการแพทย์จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และเชื่อมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ และการวิจัยด้านต่าง ๆ ในสาขานี้ จนไปถึงเครื่องสำอาง 

 

ถ้าจะดูศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ของเรา ในปี 2562  ประเทศไทยส่งออกเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 106,027 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สิ้นเปลือง คือ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ ถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย เข็มฉีดยา หลอดยา ฯลฯ ในขณะที่มูลค่านำเข้าเท่ากับ 68,546 ล้านบาท ทำให้เราเกินดุลกว่า 3 หมื่นกว่าล้านบาท ทั้งนี้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งนำเข้าและส่งออกในรอบ 5 ปีที่ผ่านก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนมากเป็นพวกเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางจักษุวิทยาที่มีราคาค่อนข้างสูง และในช่วงที่ผ่านมา โรงงานจำนวนมากในสาขาอื่น ๆ เริ่มหันมาผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์มากขึ้น แต่ส่วนมากยังอยู่ในระดับที่มีความซับซ้อนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่สูงมากนัก 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ส่งออกปีละแสนกว่าล้านบาท แต่ก็มีปัญหาในตลาดในบ้านตัวเองอย่างสาหัสสากรรจ์ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กของคนไทย ลักษณะของตลาดเครื่องมือแพทย์นี้ “คนไข้ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจซื้อ” แต่เป็นหมอหรือโรงพยาบาล สิ่งที่คำนึงที่หมอมีก็คือความปลอดภัยและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ หมอต้องเชื่อใจมาก ๆ แม้ว่าจะได้มาตรฐานแล้ว แต่คนตัดสินใจก็ต้องเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และเชื่อมั่นในฝีมือตัวเองว่าคุ้นเคย สบายใจหรือมั่นใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งก็ต้องเข้าใจแพทย์พอสมควร เพราะหากเกิดการผิดพลาด อาจถูกฟ้องร้อง ทำให้ตลาดนี้เป็นลักษณะตลาดแบบผูกขาดกลาย ๆ แต่เป็นการผูกขาดในความเชื่อมั่นและคุ้นเคย และอื่น ๆ ที่ให้การทำงานกับคนไข้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด ทำให้เจ้าใหม่ ๆ หรือรายเล็ก ๆ เข้าตลาดยากมาก

นอกจากนี้ การศึกษาของสถาบันพลาสติกของกระทรวงอุตสาหกรรมก็รวบรวมอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยที่ส่วนมากเป็นขนาดเล็กนั้น แสดงให้เห็นว่าการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นั้น มีขั้นตอนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการทดสอบ ตลอดจนขั้นตอนการขอรับรองมาตฐานต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถขายออกสู่ท้องตลาดได้จริงและใช้ต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศ เพราะในบ้านเรายังมีห้องทดสอบน้อยหรือไม่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องส่งไปทดสอบจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดของผู้ผลิตไทย ทำให้ผู้ใช้ในประเทศยังคงไม่ไว้ใจในผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ทำให้ขนาดของตลาดไม่ได้การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ส่งผลต่อต้นทุนสูง ทำให้การเป็นผู้เล่นคนใหม่ของผู้ประกอบการไทยเป็นไปได้ลำบาก

 

ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศต้องใช้ความร่วมมือในการพัฒนาที่ครบด้าน ทั้งจากผู้ใช้ คือ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้ผลิต รวมทั้งรัฐในการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศ เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์หรือปัจจัยพื้นฐานอื่นๆให้เพียงพอต่อความต้องการ สถาบันการศึกษาที่ต้องเตรียมบุคลากรสาขาวิชาที่ผสมผสานระหว่างการแพทย์และวิศวกรรม ผมเห็นในหลาย ๆ ประเทศ ตัวจุดประกาย (Ignitor) ของคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ที่สำคัญมักจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐในการเป็นศูนย์กลางของการวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การมาตรฐาน รวมทั้งการทดสอบ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร นอกเหนือจากความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทและสถาบันวิจัยอื่น ๆ ระดับโลก   

 

วันนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่หน่วยงานเจ้าภาพต้องออกมาตีเหล็กที่กำลังร้อนในขณะนี้ให้ออกมาเป็นรูปแบบและรูปร่างตามที่เราวาดภาพไว้ ซึ่งได้มีการหารือและพูดคุยกันมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจมีอุปสรรค ปัญหา คำถาม ข้อกังขามากมาย และการกีดกันของกลุ่มผลประโยชน์เดิม ๆ แต่วันนี้ ทุกฝ่ายรับรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศ ไม่ใช่แค่เพื่อเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ แต่ในมิติของการสร้างภูมิคุ้มกันด้านสาธารณสุขของประเทศในระดับหนึ่งอีกด้วย ....... ถ้าเราไม่สามารถปรับและผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve ตัวนี้ไม่ได้ตอนนี้ วันหน้าก็ยากละครับ