รัฐ-เอกชนจับมือดันส่งออกไก่ สั่งลุยเต็มพิกัด 27 ตลาดใหญ่

22 เม.ย. 2563 | 08:30 น.

พาณิชย์จับมือเอกชนปั้นยอดส่งออกสินค้าไก่ หลังไตรมาสแรกโตกว่า 7.2 % เตรียมบุกตลาดต่อ 27 ประเทศแข่งบราซิล-ยูเครน ช่วยเกษตรกร 3.2 หมื่นรายมีรายได้เพิ่ม ด้านเอกชนกระทุ้งเร่งเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-อังกฤษสร้างแต้มต่อ

 

ในการประชุมร่วม(22 เม.ย.2563)ระหว่างผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย  สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท Cargil บริษัท GFPT เป็นต้น เพื่อร่วมกันในการรับมือเพื่อพลิกโควิดเป็นโอกาสในการเตรียมการส่งออกในอนาคตเมื่อโควิดหมดไป

 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ทิศทางการส่งออกที่ได้มีการหารือกันในวันนี้ มีความเห็นตรงกันคือ แนวทางที่ 1 พยายามที่จะช่วยปรับลดต้นทุนการผลิตไก่เนื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯร่วมกัน โดยมีคู่แข่งสำคัญคือบราซิลซึ่งเป็นผู้ที่ครองตลาดลำดับต้นของโลกและในตลาดโลกยังมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มอีก เช่น ยูเครน เป็นต้น ซึ่งต้นทุนการผลิตจะต่ำกว่าไทยประมาณ 1ใน 3

รัฐ-เอกชนจับมือดันส่งออกไก่ สั่งลุยเต็มพิกัด 27 ตลาดใหญ่

อย่างไรก็ตามทิศทางที่จะเดินไปด้วยกันจะแยกตลาดส่งออกตลาดไก่เนื้อของไทยเป็น 2 ตาราง คือ ตารางที่หนึ่งคือตลาดเดิม 8 ตลาด อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น จะรักษาไว้และขยายตลาดเดิมออกมาให้ได้มากที่สุด  

 

แนวทางที่ 2  จะเร่งดำเนินการเปิดตลาดใหม่ที่ไทยยังมีสัดส่วนการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ต่ำอยู่ ที่อยากทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนมี 19 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมัน ฮ่องกง ซาอุดิอาระเบีย จีน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน เป็นต้น อีกทั้งต้องการให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงด้วย เพราะต้นทุนการเลี้ยงของไทยยังสูงกว่าคู่แข่งอย่างบราซิล และยูเครน  อย่างไรก็ดีจากมาตรการผลักดันต่าง ๆ หากทำได้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มได้อีก 10%

 

รัฐ-เอกชนจับมือดันส่งออกไก่ สั่งลุยเต็มพิกัด 27 ตลาดใหญ่

อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์ในช่วงระยะเวลาปัจจุบันและใกล้ ๆ นี้ที่ภาคเอกชนขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการคือ ต้องการเห็นการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป(อียู) และไทย-อังกฤษให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการอยู่และเริ่มมีการเจรจามาโดยลำดับ

 

พร้อมกันนี้ขอให้มีการเจรจาเพิ่มโควตาส่งออกไปอียูและอังกฤษ เนื่องจากภาษีนำเข้าในโควตากับนอกโควตาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ให้ขยายตลาดส่งออกไปในตลาดญี่ปุ่น จีน โดยเฉพาะจีนต้องการให้เร่งเข้ามาตรวจโรงงานผลิตซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรอง 22 โรงงาน ซึ่งยังคงเหลือ 6 โรงงาน 

 

สำหรับปี 2562 ไทยสามารถส่งออกสินค้าไก่ได้ 900,000 ตัน มูลค่าประมาณ 109,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถส่งออกได้ 230,000 ตัน มูลค่า 26,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.21 % ตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ เป็นต้น

 

รายงานจากภาคเอกชน  ระบุว่า  เอกชนคาดการณ์การส่งออกปริมาณผลผลิตไก่เนื้อในปี 2563 อยู่ที่ 990,000 ตัน แต่จากปัจจัยของโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกอาจจะต้องมีการประเมินตัวเลขการส่งออกใหม่อีกครั้ง และในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ แม้การส่งออกจะไม่ได้รับผลกระทบแต่เชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 การส่งออกคาดว่าจะชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป โดยเฉพาะยุโรปได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศซึ่งมีผลทำให้การส่งออกลำบากมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหรือไม่  เพราะต้องขึ้นอยู่กับมาตรการการผ่อนคลายของแต่ละประเทศ

 

ส่วนการบริโภคไก่เนื้อภายในประเทศพบว่าปริมาณการบริโภคลดลงเนื่องจากประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลงทำให้การบริโภคไก่เนื้อลดลงตามลำดับโดยประเมินว่าการบริโภคลดลงถึง 50% ดังนั้น จึงต้องเตรียมมาตรการรองรับเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นเชื่อว่ากำลังซื้อจะกลับมาเร็วขึ้น

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ 8 ของโลก มีการผลิตประมาณปีละ 3.3 ล้านตัน และมีปริมาณส่วนเกินเพื่อส่งออกได้เกือบ 1 ล้านตันต่อปี เป็นลำดับที่ 4 ของโลก โดยจากสัดส่วนการผลิต 100% แบ่งเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศ 60% และเพื่อการส่งออก 40%

 

ขณะนี้คู่แข่งสำคัญของไทย คือ บราซิล กำลังประสบปัญหาจากการรับมือโรคโควิด ทำให้การส่งออกชะลอไป ในขณะที่ไทยสามารถดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างดี จึงมั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาสการส่งออกได้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะชูโรงภาพลักษณ์ มาตรฐาน และความเป็นเลิศด้านอาหารของไทย ผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในยามฉุกเฉิน และหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่บางประเทศคู่ค้าอาจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

รายงานจากคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในมุมมองนายจุรินทร์นั้นเห็นว่าอุตสาหกรรมไก่ไม่ได้มีแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อมากกว่า 32,000 ราย หรือประมาณ 5,700 ครัวเรือนทั่วประเทศ กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ลพบุรี นครราชสีมา ชลบุรี กาญจนบุรี และสระบุรี เป็นต้น ซึ่งนอกจากไก่เนื้อแล้ว ก็ยังมีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่อีกมากกว่า 130,000 ราย มีครัวเรือนในส่วนของไก่ไข่ 4,400 ครัวเรือนในหลายจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี นครปฐม อยุธยา เป็นต้น ผลิตไข่ได้ประมาณปีละประมาณ 16,000 ล้านฟอง จึงถือว่าไก่เป็นอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรต้นน้ำจำนวนมาก หากสามารถทั้งขยายการส่งออก และการบริโภคในประเทศได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนเกษตรกรฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน