ชาวนาอุดรธานี"งดขายข้าว" ให้ลูกหนีภัยโควิดกลับบ้านไว้กิน

25 เม.ย. 2563 | 02:45 น.

โรงสีอุดรฯเงียบสนิทชาวนางดนำข้าวออกขาย เหตุจากราคาตลาดพุ่งลิ่วสูงกว่าราคาประกันของรัฐ ประการสำคัญเก็บไว้ให้ลูกหลานตกงานจากภัยโควิด-19 กลับมาอยู่บ้านไว้กิน ทั้งหวั่นฝนทิ้งช่วงพร้อมรอภาวะฟ้าฝนในฤดูกาลผลิตที่จะถึง

นายสุพจน์ แซ่ตัง ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาวะตลาดข้าวจังหวัดอุดรธานี เวลานี้ว่าไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มากนัก เนื่องจากการปลูกข้าวในพื้นที่ส่วนใหญ่ (80%) ชาวนานิยมปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในประเทศ อีก 20% ปลูกข้าวเจ้าเพื่อการส่งออก โดยที่เวลานี้ชาวนาจะเก็บข้าวไว้ไม่ค่อยยอมขายออกมาเหมือนเช่นเคย ทั้งที่เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกปี 2563/2564 แล้ว

ชาวนาอุดรธานี"งดขายข้าว" ให้ลูกหนีภัยโควิดกลับบ้านไว้กิน

เหตุที่ชาวนาเก็บข้าวไว้ไม่รีบขายออกมา เป็นเพราะเวลานี้ราคาข้าวเหนียวสูงขึ้นไปถึงตันละ 16,000 บาท สูงกว่าราคาภาครัฐที่รับประกันไว้ที่ราคาตันละ 12,000 บาท ตามมาตรการเพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด อีกประการที่สำคัญคือ สถานประกอบการอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯและปริมณฑลหลายแห่งปิดงานงดจ้าง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แรงงานที่เป็นลูกหลานชาวนากลับภูมิลำเนา โดยไม่รู้อนาคตว่าจะกลับไปทำงานได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ชาวนาจึงเก็บข้าวที่มีในยุ้งฉางไว้บริโภคในครัวเรือนไว้ก่อน

“ปัจจุบันยังมีข้าวเปลือกอยู่ในมือของเกษตรกรชาวนาเป็นจำนวนมาก เพราะเก็บเอาไว้กินในครัวเรือน และรอดูสถานการณ์ของฤดูกาลเพาะปลูกปี 2563/2564 ที่กำลังจะมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร หากฝนฟ้าธรรมชาติมาเป็นปกติก็เริ่มทำนากันได้แต่ถ้าเกิดแล้งยาวฝนทิ้งช่วงก็ยังมีข้าวเปลือกอยู่ในยุ้งฉาง ก็พอจะบรรเทาความเดือดร้อนไปได้”

ส่วนสถานการณ์ของผู้ประกอบการโรงสีนั้น นายสุพจน์ กล่าวว่า ชมรมโรงสีข้าวจังหวัดอุดรธานี มีสมาชิกอยู่จำนวน 18 โรง ซึ่งผู้ประกอบการโรงสีข้าวของอุดรธานีพยามยามปรับตัวเองรับสถานการณ์ หลายแห่งหันไปลงทุนใช้เครื่องมือเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล ในกระบวนการดำเนินงานเพื่อประหยัดต้นทุนตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุโรคระบาดโควิด-19 แล้ว เนื่องจากหาแรงงานมาทำงานในโรงสีท้องถิ่นได้ยากขึ้นส่วนใหญ่นิยมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯและปริมณฑลมากกว่า

ด้านนายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าเรื่องข้าวมีหลายฝ่ายร่วมกันดูแล รัฐบาลเองมีหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการประกันรายได้พืชเกษตรกรรม 5 ชนิด มาตรการฟื้นฟูเกษตรกร ช่วยเหลือการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว นอกจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯกระทรวงพาณิชย์ ช่วยดูแลด้านราคาและการตลาด เป็นต้น เป็นการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่ละหน่วยงาน

ทั้งนี้ขอให้เกษตรกรทุกพื้นที่คอยติดตามข่าวการเกษตรจากเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาวะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกในปีนี้ และให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกข้าวนาปรัง หากอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานควรปลูกพืขเกษตรอย่างอื่นที่ใช้นํ้าน้อย 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน 2563

ชาวนาอุดรธานี"งดขายข้าว" ให้ลูกหนีภัยโควิดกลับบ้านไว้กิน