"รอ"เศรษฐกิจ หรือ"ตาม"ตลาดเงิน?

23 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและโลกการเงิน

เพราะเริ่มต้นจากภาวะตลาดหมี (Bear Market) ครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ตามมาด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกแทบจะหยุดชะงัก ผสมกับการอัดฉีดนโยบายทั้งการเงินและการคลังในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนทำให้กลายเป็นเดือนที่หุ้นฟื้นตัวแรงและเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

นักลงทุนส่วนมากดูจะตามความรวดเร็วนี้ไม่ทัน และยังอยู่กับคำถามแรกว่าเราผ่านช่วง Bear Market ครั้งนี้ไปแล้วจริงหรือ

 

 ขณะเดียวกัน ก็มองการปรับตัวขึ้นครั้งนี้ด้วยความกังขาว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นเร็วเกินไปหรือไม่ ตลาดมีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจเกินไปรึเปล่า

 

 การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะเริ่มจากศึกษาจังหวะของ Bear Market และเศรษฐกิจถดถอย ตามด้วยเปรียบเทียบว่า ครั้งนี้ตลาดมองวิกฤติเหมือนหรือต่างกับอดีตอย่างไร แม้วิกฤติครั้งนี้จะยังไม่จบ แต่ทิศทางของตลาดในปัจจุบัน ก็ดูจะบอกอะไรเราหลายอย่าง

เรื่องแรกคือ ตลาดไม่ได้มองวิกฤติครั้งนี้แตกต่างไปจากวิกฤติทั่วไปเลย

 

แม้จะแปลก แต่ก็ดูจะเป็นจริง เพราะเมื่อลองนำการเปลี่ยนแปลงของราคาพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ดัชนีหุ้นหลัก สินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินทั่วโลก ช่วง 17 มกราคม-23 มีนาคม เทียบกับเหตุการณ์ทั่วไปที่ดัชนีความกลัว (VIX Index) ปรับตัวขึ้นสูงถึง 20% ในอดีตจะพบว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้มี R-Squared ถึง 0.87 ซึ่งถือว่าเหมือนกันอย่างมาก

 

"รอ"เศรษฐกิจ หรือ"ตาม"ตลาดเงิน?

 

แปลได้ว่า ตลาดเชื่อว่าวิกฤติโคโรนาไวรัสเหมือนกับวิกฤติทั่วไป มีเพียงนักลงทุนอย่างเรา ที่คิดว่าครั้งนี้แตกต่างจากอดีตมาก

 

ประเด็นที่ 2 คือตลาดกลับตัวเร็วและแรงกว่าทุกครั้งก็จริง แต่ก็เกิดขึ้นเพราะจังหวะของนโยบายภาครัฐและธนาคารกลางที่อัดเข้ามาเร็วต่างหาก

 

 ถ้ามองแค่ระยะเวลาก็ไม่แปลกที่จะคิดว่าการฟื้นตัวเกิดขึ้นเร็วไป

แต่ถ้าเทียบขนาดจะพบว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนี MSCI World ในระดับ 10-25% นั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และมักเกิดขึ้นใน 2 กรณี คือการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มดีขึ้น หรือนโยบายเศรษฐกิจผ่อนคลายลง

 

นอกจากนั้น การจะบอกว่า ตลาดมีมุมมองในเชิงบวกเกินไปก็อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะตอนนี้ตลาด ก็แค่ปรับมุมมองตามระยะห่างระหว่างเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่นักวิเคราะห์มองไว้เท่านั้น

 

ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงเศรษฐกิจถดถอยของประเทศใหญ่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ตลาดมักปรับตัวลงแตะระดับตํ่าสุดก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงราว 3 เดือน และโดยเฉลี่ย ระดับการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน จะกลับมาที่เดิมใน 15 เดือนหลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ซึ่งถ้ามองว่า จุดตํ่าสุดของตลาดคือเดือนมีนาคม ก็หมายความว่าเศรษฐกิจและกำไรต้องกลับมาที่เดิมให้ได้ภายใน 17 เดือนข้างหน้า

 

ปัจจุบันวิกฤติครั้งนี้เหมือนกับช่วงปี 1998 ที่นักวิเคราะห์ปรับประมาณการรายได้ลงเฉพาะปีแรก แต่ให้คงที่ในปีถัดมา ซึ่งถ้ากำไรสามารถฟื้นกลับมาได้จริง ดัชนีในระดับปัจจุบันก็จะกลายเป็นฐานใหม่ของการปรับตัวขึ้นครั้งต่อไปได้จริงด้วย

 

ส่วนคำถามสุดท้ายว่าจะรอเศรษฐกิจหรือตามตลาด รอบนี้ก็คงไม่ได้อยู่ที่ความเคลื่อนไหวของตลาดที่ผ่านมา แต่อยู่ที่ภาพการทำกำไรของทั้งตลาดระยะยาวที่เรากำลังจะรู้ไปพร้อมกันในไม่ช้า

ในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า องค์ประกอบใหม่ของเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้มีแต่จุดอ่อนจากหนี้ที่มากขึ้น หรือสังคมที่เป็นส่วนตัวไปทั้งหมด แต่ก็มีจุดแข็งจาก ต้นทุนพลังงานที่ตํ่า และธุรกิจที่เป็นดิจิทัลมากขึ้นมาสนับสนุน

 

การปรับตัวรวดเร็วครั้งนี้อาจทำให้เราสงสัย แต่ วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำของสหภาพโซเวียตในอดีต เคยกล่าวไว้ว่า

“There are decades where nothing happens and there are weeks where decades happen”

เดือนที่ผ่านมาแค่แสดงให้เห็นว่า ตลาดและผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจได้เร็วแค่ไหน และเรากำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเศรษฐกิจเกิดขึ้นต่อเนื่องใน 1-2 เดือนต่อจากนี้แน่นอนครับ

ยังอีโคโนมิสต์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

นักวิเคราะห์ตลาดการเงิน และการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23-25 เมษายน 2563